#มือใหม่เริ่มลงทุน

แจกวอร์แรนท์ คืออะไร ? ฉบับสรุปเข้าใจง่าย

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
2,202 views

หลายๆบริษัทที่ออก "วอร์แรนท์" มักจะเป็นที่ถกเถียงกันว่า
การออกวอร์แรนท์ เป็นเรื่องของการเพิ่มทุนหรือไม่ ? 
หรือเป็นการแจกหุ้นกันแบบฟรีๆเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น ...

ในความเป็นจริงแล้ว เวลาบริษัทมีการประกาศเรื่องของการออกวอร์แรนท์ จะหมายถึง "การเพิ่มทุน"
วอร์แรนท์ คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหลักทรัพย์ที่วอร์แรนท์นั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Asset) ซึ่งมีตั้งแต่หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน โดยจะกำหนดราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) เอาไว้
ซึ่งนักลงทุนจะคุ้นเคยกัน หลักทรัพย์ที่มีวอร์แรนท์อ้างอิงมักเป็น หุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ
โดยทั่วไป บริษัทจดทะเบียนมักจะแจกวอร์แรนท์ฟรีให้ผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดใจให้มาใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มในอนาคต

เช่น บริษัท A ทำธุรกิจค้าปลีก ทางบริษัทคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินทุนมากจำนวนหนึ่ง
บริษัท A ไม่เลือกที่จะกู้แบงก์ แต่กลับออกเป็น "วอร์แรนท์" เพื่อให้นักลงทุนใช้สิทธิ์การเพิ่มทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า 
ส่งผลให้บริษัทได้เงินลงทุนตามจำนวนที่วางไว้ เพื่อใช้ในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ
ส่วนนักลงทุนก็จะได้วอร์แรนท์ หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า "หุ้นลูก" (หุ้นสามัญ จะถูกเรียกว่า หุ้นแม่ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง)
และสามารถใส่เงินตามที่บริษัทระบุไว้ เพื่อแปลงจากหุ้นลูก ไปเป็นหุ้นแม่ อีกทีหนึ่ง

สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ 
ราคาใช้สิทธิ, รายละเอียดการใช้สิทธิ, ระยะเวลาที่ใช้สิทธิได้ และอายุคงเหลือของวอร์แรนท์
เช่น บริษัท A ประกาศอัตราส่วน 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นวอร์แรนท์ ราคาใช้สิทธิ์ที่ 10 บาท 
และอายุของวอร์แรนท์มีอายุ 3 ปี (ระบุวันหมดอายุ)
หมายความว่า ถ้านักลงทุนมีหุ้น A 10,000 หุ้น นักลงทุนจะได้วอร์แรนท์ 1,000 หุ้น และสามารถแปลงเป็นหุ้นแม่ได้ เมื่อนำหุ้นลูก 1 หุ้น + เงิน 10 บาท 
และมีอายุการถือครอง 3 ปี หมายความว่า ถ้าเลยวันที่กำหนด (หรือเรียกว่า หมดอายุ) วอร์แรนท์นั้นก็จะมีค่าเท่ากับ 0 ทันที
แต่ถ้านักลงทุนไม่อยากจะใส่เงินเพิ่มทุน ก็สามารถขายวอร์แรนท์ออกไปผ่านกระดานของตลาดหลักทรัพย์ได้
ซึ่งนักลงทุนอีกซื้อวอร์แรนท์ ก็สามารถนำไปแปลงเป็นหุ้นแม่ ได้เช่นกัน 
พูดง่ายๆ คือ เมื่อผู้ถือวอร์แรนท์มาใช้สิทธิในการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ บริษัทจดทะเบียนที่ออกวอร์แรนท์ ก็จะได้เงินทุนเพิ่ม เพื่อมาใช้ในกิจการ 
ส่วนคนที่มาใช้สิทธิ์แปลงวอร์แรนท์เป็นหุ้นสามัญก็จะได้หุ้นเพิ่ม

ประเด็นจะอยู่ที่ นำไปขายได้ 
ทำให้นักลงทุนบางส่วนเข้าใจว่า การแจกวอร์แรนท์เหมือนแจกหุ้นฟรีๆ ที่นักลงทุนสามารถนำไปขายในตลาดได้ 
ซึ่งสิ่งที่ต้องระวัง คือ 
1. ราคาสินค้าสินทรัพย์อ้างอิง
วอร์แรนท์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามหุ้นแม่ ถ้าหุ้นแม่ขึ้น หุ้นลูกก็มักจะขึ้นตาม แต่ถ้าหุ้นแม่ลง หุ้นลูกก็จะลงตาม

2. ราคาใช้สิทธิ เทียบกับราคา สินทรัพย์อ้างอิง
หากราคาใช้สิทธิ สูงกว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงมาก ๆ ก็จะทำให้ราคาของวอร์แรนท์นั้นต่ำ
เนื่องจากนักลงทุนมองว่า โอกาสที่ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวสูงกว่าราคาใช้สิทธินั้นมีน้อย 
ซึ่งหากเอาวอร์แรนท์นั้นไปใช้สิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญแล้วเอามาขาย ก็จะขาดทุน ไม่คุ้มค่า จึงเลือกที่จะขายวอร์แรนท์ทิ้งไป

3. อายุคงเหลือของวอร์แรนท์
วอร์แรนท์ มีอายุจำกัด ยิ่งนานเท่าไร มูลค่าของวอร์แรนท์ก็จะลดลง จนถึงวันสุดท้าย มูลค่าของวอร์แรนท์ก็จะเหลือศูนย์ จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องระวัง

อย่างไรก็ตามวอร์แรนท์ ถือเป็นอีกสิ่งที่นักลงทุนมักจะชอบนำมาเก็งกำไรกัน เนื่องจากความเป็น Leverage 
หมายความว่า การขยับของหุ้นแม่เพียง 1-2% ก็สามารถทำให้หุ้นลูกพุ่ง 10-20% ได้ไม่ยาก
แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ยิ่งใกล้วันหมดอายุ ความนิยมของวอร์แรนท์จะลดลง และจะเท่ากับศูนย์ในท้ายที่สุด

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องวอร์แรนท์ ?
บริษัทไม่ใช้วิธีเพิ่มทุนแบบตรงๆไปเลย ไม่ดีกว่าเหรอ ? 
คำตอบ คือ มีข้อดีและเสียแตกต่างกันไป
การประกาศเพิ่มทุนแบบตรงๆ จะทำให้เกิด Dilution Effect คือ จำนวนหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาต่อหุ้นปรับตัวลดลง 
และอาจจะเกิดการตกใจของนักลงทุนเทขายหุ้นออกมา ยิ่งช่วงเวลาที่ตลาดไม่ดี การเทขายอาจจะต่ำกว่าราคาเพิ่มทุน ทำให้บริษัทไม่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าที่วางไว้
หลายบริษัทจึงเลือกที่จะออกวอร์แรนท์มากกว่า เพราะ ชะลอผลกระทบของ Dilution Effect เนื่องจากจำนวนหุ้นเพิ่มทุนจะยังไม่เพิ่มขึ้นทันที จนกว่าผู้ถือวอร์แรนท์จะมาใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ และจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้

อีกทั้งยังมีประโยชน์ในแง่ของเรื่อง การลดลงของ D/E Ratio 
กล่าวคือ เมื่อวอร์แรนท์ถูกใช้สิทธิแปลงสภาพ จะถูกบันทึกเข้ามาอยู่ในส่วนทุน ต่างจากกรณีที่บริษัทไปกู้ยืมเงินมา ซึ่งจะถูกบันทึกเป็นหนี้สิน

 

ดังนั้น เราต้องเข้าใจใหม่ว่า การออกวอร์แรนท์ คือการเพิ่มทุน แต่เป็นการเพิ่มทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และการออกวอร์แรนท์ เหมือนหุ้นฟรี หรืออาจจะไม่ฟรีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนเป็นคนได้สิทธิ์มาแบบฟรีๆ หรือเลือกที่จะซื้อในตลาด
แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ วอร์แรนท์ มีความผันผวนของราคาสูงมาก และยิ่งถือนานเท่าไร มูลค่าก็จะยิ่งลดลง
และจบลงด้วยการเป็น "ศูนย์" หรือไม่มีคุณค่าอะไรเลย 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง