เวลาเราศึกษาเรื่องการลงทุน คำพูดที่เรามักจะได้ยินบ่อย คือ
"อย่าเอาไข่ทั้งหมด ไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว"
หรือพูดง่ายๆ คือ การกระจายความเสี่ยง (Diversification)
เลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายๆตัวเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ไม่ควรเอาเงินทั้งหมดที่มี ไปทุ่มกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเกิดมีอะไรผิดพลาด เราอาจจะสูญเสียเงินทั้งหมด
ซึ่งเรื่องของการกระจายความเสี่ยงเรียกได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องของการสร้าง Portfolio การลงทุน เช่น
- กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ คริปโทเคอร์เรนซี
- กระจายการลงทุนในหุ้นทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
- กระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายบริษัท และหลายอุตสาหกรรม
แต่รู้หรือไม่ว่า เรื่องของการกระจายความเสี่ยง ก็มี "ความเสี่ยง" ในตัวมันเองด้วยเหมือนกัน
เราเรียกกันว่า Diworsification หรือยิ่งกระจายความเสี่ยงมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากเท่านั้น
คำว่า Diworsification ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือ One Up On Wall Street เขียนโดย Peter Lynch ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ได้อธิบายไว้ว่า
การกระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์หลายๆแบบ ไม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับนักลงทุนเลย
ในอีกทางหนึ่ง ยังเป็นตัวกีดกันไม่ให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทน "หลายเด้ง" จากหุ้นที่เราเลือกถูกตัวอีก
พูดง่ายๆ คือ การกระจายความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนไม่เสียหายมากจากหุ้นที่ย่ำแย่
แต่นักลงทุนเองก็ไม่สามารถได้ผลตอบแทนสูงๆจากหุ้นที่ประสบความสำเร็จในเวลาเดียวกัน
สอดคล้องกับความเห็นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ ชาลี มังเกอร์ ที่มองว่า
การกระจายการลงทุนเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ได้เข้าใจอะไรมากนักเกี่ยวกับตัวหุ้น
เพราะนอกจากจะลดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้วย
แทนที่จะโฟกัสกับการลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจ แต่กลับต้องกระจายไปลงทุนในสิ่งอื่น ที่เราเข้าใจและมั่นใจน้อยกว่า
ดังนั้น Peter Lynch จึงแนะนำว่า
ถ้าเราเข้าใจเกี่ยวกับหุ้นและบริษัทที่เราจะลงทุนแล้ว การกระจายความเสี่ยงก็ไม่มีความจำเป็น
1. ถ้านักลงทุนอยากได้ผลตอบแทน "หลายเด้ง" ต้องอย่ากระจายความเสี่ยง
แต่ให้เน้นไปที่การศึกษาอย่างเข้าใจ และลงทุนแบบโฟกัส คือ ซื้อหุ้นเพียงไม่กี่ตัวแต่ขอปริมาณมากๆ
2. ลดภาระเรื่องค่าธรรมเนียม
เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการซื้อขายแต่ละครั้ง มีค่าธรรมเนียมอยู่ในทุกออเดอร์
ถึงแม้จะเล็กน้อย แต่ถ้ารวมๆกันแล้วก็อาจจะเป็นเงินหลายสิบเปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับมูลค่าพอร์ต
3. ลดเรื่องของการที่ต้องติดตามหุ้น
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ยิ่งเรามีหุ้นมากเท่าไร เราก็ต้องใช้เวลามากกับการติดตามราคาหุ้น และสถานการณ์ของบริษัทไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวสาร ผลประกอบการ หรือแม้กระทั่งบทวิเคราะห์
ถ้าเรามีหุ้นน้อยตัว เราอาจจะใช้เวลาน้อยกว่า ทำความเข้าใจได้มากกว่า
- ทำไมเราถึงควรชอบ "หุ้นปันผล"
- "ขาดทุนสะสม" คืออะไร ทำไมถึงลดมูลค่าหุ้นในระยะยาว ?
- จุดจบของเซียนคอร์เนอร์หุ้นบันลือโลก
อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าการกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก
เพราะการกระจายความเสี่ยง จะเป็นประโยชน์มากสำหรับนักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุน และรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
แต่เราต้องไม่ลืมว่า การกระจายความเสี่ยงก็จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงๆ ด้วยเช่นเดียวกัน