#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#แนวคิดด้านการลงทุน
#มือใหม่เริ่มลงทุน

D/E Ratio ตัวเลขสำคัญมากในงบการเงิน แต่ทำไมนักลงทุนถึงไม่ค่อยสนใจ ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
5,651 views

เวลาเราพูดถึงผลประกอบการ นักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในเรื่อง
"รายได้" และ "กำไร" ของบริษัทที่ทำได้ 
หรืออาจจะดูค่า P/E และ P/BV เพื่อตรวจสอบความถูกแพงของหุ้นอย่างที่นักลงทุนมักจะชอบทำกัน

 

แต่รู้หรือไม่ว่ามีตัวเลขหนึ่ง ที่สำคัญมากแต่นักลงทุนมักไม่ได้ให้ความสนใจสักเท่าไร นั่นก็คือ D/E Ratio
D/E Ratio หรือ Debt to Equity Ratio 
คือ อัตราส่วนที่บอกว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
มีสูตรว่า D/E Ratio = Debt/Equity 
โดย D คือ Debt หรือหนี้สินรวมของบริษัท
และ E คือ Equity หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น

เมื่อเราได้ตัวเลขแล้ว เราจะสามารถตีความ D/E Ratio ได้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
- ถ้ามากกว่า 1 เท่า แสดงว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
- ถ้าเท่ากับ 1 เท่า แสดงว่า บริษัทมีหนี้สินเท่ากับส่วนของผู้ถือหุ้น
- ถ้าน้อยกว่า 1 เท่า แสดงว่า บริษัทมีหนี้น้อยกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งกรณีที่ 2 คือ เท่ากับ 1 มักจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในงบดุล คือ สินทรัพย์ - หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น
มันเป็นไปได้ยากมากที่ หนี้สิน = ส่วนของผู้ถือหุ้น

 

จะเห็นได้ว่า D/E Ratio เป็นตัวสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร
บริษัทอาศัยแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมหนี้ หรือเงินทุนของตัวเองมาใช้ในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นจะอยู่ที่ D/E Ratio ที่มากกว่า 1 ขึ้นไป
หมายความว่า ยิ่งตัวเลขนี้สูงมากเท่าไร แสดงว่า บริษัทนั้นยิ่งมีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย
1. บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้น
2. บริษัทที่มีหนี้สินสูงๆ อาจจะต้อง "เพิ่มทุน" ในเวลาต่อมา

ในทางกลับกันหากค่า DE Ratio ต่ำ แสดงว่า บริษัทมีหนี้น้อย งบการเงินดูแข็งแกร่ง และอาจจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการเพิ่มทุน

 

สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ D/E Ratio จะมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละธุรกิจอีกด้วย
เช่น ธุรกิจธนาคาร ด้วยธรรมชาติของธุรกิจ จะมีการรับเงินฝากและปล่อยสินเชื่ออีกที
ซึ่งเงินฝากจะถูกนับเป็นหนี้สิน ทำให้เวลาคำนวน D/E Ratio จะสูงผิดปกติ
ในขณะที่ธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น ค้าปลีก เราสามารถตีความแบบตรงไปตรงมาได้เลย
แต่นักลงทุนอาจจะต้องดูตัวเลขอื่นๆประกอบ เช่น วงจรเงินสด 
เพราะการดูแต่ D/E Ratio อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรดูปัจจัยอื่นๆประกอบควบคู่กันไปด้วยครับ ... 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง