#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#แนวคิดด้านการลงทุน
#มือใหม่เริ่มลงทุน

เข้าใจ EBITDA ให้มากขึ้น สรุปแล้วตัวเลขนี้ใช้งานอย่างไร ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,811 views

เวลาเราพูดถึงงบการเงินทางบัญชี สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ กำไรขั้นต้นเท่าไร กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
หรืออาจจะดูเพิ่มว่า อัตรากำไรของบริษัทเป็นอย่างไร
แต่ตัวเลขหนึ่งที่มักจะมองข้ามไป คือ EBITDA

 

EBITDA คือ กำไรประเภทหนึ่งที่ไม่รวมดอกเบี้ยต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมภาษีและไม่รวมค่าเสื่อมราคา 
ถ้ามีการหักภาษี หักต้นทุนการกู้ยืม และค่าเสื่อมราคาไปแล้ว จะกลายมาเป็น "กำไรสุทธิ" ของบริษัท

นักลงทุนหลายๆ คน ชอบที่จะดูตรง EBITDA มากกว่า กำไรสุทธิ 
สาเหตุเป็นเพราะว่าเราแทบจะรู้เลยว่าความสามารถของบริษัทมีมากแค่ไหนในการดำเนินธุรกิจ 
เพราะภาษีและค่าเสื่อมราคาเป็นเรื่องของการ "บังคับจ่าย" อยู่แล้วในทางบัญชี
ถ้าบริษัทมีกำไร EBITDA เยอะๆ แต่โดยค่าเสื่อมราคาและภาษีที่ต้องจ่ายจำนวนมาก ทำให้กำไรสุทธิดูน้อยไปเลยในไตรมาสนั้นๆ
ทำให้นักลงทุนที่ไม่ได้ดูผลประกอบการฉบับเต็มอาจจะด่วนตัดสินไปเลยว่าไม่ดีเพราะบริษัทแย่กว่าที่คิดเอาไว้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย

EBITDA จึงเข้ามาเป็นตัวเลขที่วัดความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทจริงๆ
โดยไม่เอาเรื่องของค่าเสื่อมและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ผลประกอบการของบริษัทดูดี นักลงทุนเห็นแล้วก็ชอบใจเพราะมองว่าบริษัทมีการเติบโต 
ทำให้นักลงทุนมักจะโทษว่า ตัวต้นเหตุจริงๆน่าจะมาจาก "ค่าเสื่อมราคา" หรือที่เราเรียกว่า Depreciation and Amortization
ค่าเสื่อมราคา ชื่อเต็มๆ คือ ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และการตัดจำหน่าย (Amortization)
บางตำราที่วิชาการมากๆ ก็จะบอกว่า Depreciation  คือ สินค้าที่จับต้องได้ เช่น เครื่องจักร โรงงาน อุปกรณ์
ในขณะที่ Amortization คือ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ตราสินค้า ลิขสิทธิ์

 

ซึ่งค่าเสื่อมราคาเป็นอะไรที่เข้าใจได้ยาก เพราะการตัดค่าเสื่อมแต่ละครั้ง บริษัทก็มีการตัดไม่เหมือนกัน จะตัดกี่ปี ตัดปีละเท่าไร  และบางบริษัทก็มีขนาดใหญ่มาก สินค้าบางอย่างมีความซับซ้อน 
พูดง่ายๆ คือ แทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าค่าเสื่อมจะถูกตัดในแต่ละปีเป็นเท่าไร 
แม้แต่นักวิเคราะห์สายพื้นฐานที่เชี่ยวชาญในผลประกอบการ ยังคาดเดาตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงในหลายๆ ครั้ง ดังนั้น ถ้าบริษัทแจ้งว่าเป็นตัวเลขเท่าไร ก็ต้องเป็นเท่านั้น 
มักไม่ค่อยมีนักลงทุนไปสอดส่องว่าตัดเท่าไร ตัดยังไง เพราะมันเป็นเรื่องทางบัญชีที่ประเมินได้ยากมาก
เลยทำให้มีคนจำนวนมาก มองว่า กำไรสุทธิ ไม่ได้บ่งบอกความสามารถในการดำเนินธุรกิจมากเท่าไร 
จึงมองว่า การดู EBITDA จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะเป็นผลการดำเนินงานที่หักต้นทุนไปแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ภาษี รวมถึงค่าเสื่อมราคา

 

ดังนั้น เวลาเราใช้ EBITDA เราจะนิยมใช้กัน 2 วิธี คือ
1. เปรียบเทียบ EBITDA ในแต่ละไตรมาสว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง
EBITDA คือ กำไรประเภทหนึ่งที่ไม่รวมภาษี ต้นทุนทางการเงินและค่าเสื่อมราคา 
ดังนั้นถ้า EBITDA เพิ่มขึ้นทุกๆ ไตรมาส ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
ในทางกลับกันถ้า EBITDA ลดลง แสดงว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี บริษัทเริ่มมีปัญหากับการทำไร
นักลงทุนอาจจะต้องไปสืบค้นต่อว่าเกิดจากอะไร SG&A ที่สูงเกินไป หรือต้นทุนขายที่สูงเกินไป 
เราสามารถหาคำตอบได้จาก "คำอธิบายผลประกอบการ" ในแต่ละไตรมาสที่บริษัทมีประกาศ

2. เปรียบเทียบ EBITDA Margin เทียบกับอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน 
EBITDA margin คือ อัตราการทำกำไร EBITDA อยู่ในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์
พูดง่ายๆ คือ ถ้าขายของ 100 บาท บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานที่แท้จริงเท่าไร หักต้นทุน หักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารออกแล้ว 
แต่ยังไม่หักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา
ตัวอย่างเช่น หุ้น XXX มี EBITDA Margin อยู่ราวๆ 7%
หมายความว่าบริษัท XXX ทำธุรกิจแล้วได้เงินมา 100 บาท หักค่าใช้จ่ายต้นทุน หักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารแล้ว เหลือกำไร 7 บาท
ซึ่ง EBITDA Margin ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี เพราะแปลว่าธุรกิจสามารถสร้างกำไรหรือผลตอบแทนได้มาก
แต่ก็มีหลายครั้งที่ EBITDA Margin ติดลบ บ่งบอกว่ายิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน

 


อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่เก่งๆหลายคนมักจะมองว่า EBITDA คือตัวเลขที่ใช้ไม่ได้จริง โดยเฉพาะชาลี มังเกอร์ และวอเร็น บัฟเฟตต์ 
พวกเขามองว่า EBITDA คือ ตัวเลขที่หลอกนักลงทุนให้กำไรออกมาดูดีเกินจริง ... 
สาเหตุเป็นเพราะว่าค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
เพราะเราซื้อเครื่องจักรมาใช้งานแล้วจริงๆ เพียงแค่นำมาตัดจ่ายเป็นรายไตรมาส ตามเกณฑ์ของการทำบัญชีเท่านั้น 
อีกท้ังการซื้อเครื่องจักร ที่ดิน หรือแม้แต่เช่าที่ดินทำกิน เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายเงินสดออกไปแล้วทั้งก้อน เพื่อซื้อสินทรัพย์โดยที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย 
เพราะฉะนั้นค่าเสื่อมราคา คือรายจ่ายประเภทหนึ่งที่นักลงทุนจำเป็นจะต้องดูด้วย

 

วอเร็น บัฟเฟตต์ แนะนำว่า บริษัทที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนไปก่อนแล้วค่อยได้เงินสดกลับมา จะดีกว่าบริษัทที่ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ จึงค่อยรับรู้รายได้จะได้เปรียบกว่ามากในระยะยาว
เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่ง และเติบโตต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก
ปัญหาคือ ธุรกิจที่เป็นแบบนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยาก 
หรือถ้ามีจริงๆ ราคาหุ้นมันก็อาจจะแพงไปแล้ว ไม่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุน 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง