ช่วงนี้กลุ่มหุ้นหนึ่งที่ลงมาค่อนข้างมาก คือ หุ้นโรงไฟฟ้า
ถ้าเราดูในช่วง 12 เดือนมานี้ ที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่น
EGCO -22%
BCPG -25%
GPSC -18%
RATCH -21%
ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง
ราคาพลังงานสูง ต้นทุนสูง โรงไฟฟ้าบางแห่งสลับกันปิดซ่อมบำรุง ดำเนินเครื่องได้ไม่เต็มที่ หรือบางแห่งมีการลงทุนก็เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย
ทำให้ผลประกอบการไม่ค่อยดีนักในช่วงที่ผ่านมา

ราคาหุ้น EGCO ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
https://www.tradingview.com/symbols/SET-EGCO/
แต่เราต้องไม่ลืมว่าหุ้นโรงไฟฟ้า ได้รับการยอมรับว่าเป็น "หุ้น Defensive"
ซึ่งมีความน่าสนใจในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนหนัก และเป็นกลุ่มหุ้นที่ปันผลดี
หุ้น Defensive คือ หุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง ความเสี่ยงต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ
จึงเป็นหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม
ในทางกลับกัน การเติบโตของรายได้และกำไรของหุ้นกลุ่มนี้ก็จะไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆ ในตลาด
คำถาม คือ ถ้าเรามองว่าจังหวะนี้อาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการเริ่มต้นศึกษาหุ้นโรงไฟฟ้า
เราควรจะเริ่มต้นค้นคว้าอย่างไรดี ?
คำตอบ ประกอบไปด้วย 3 วิธี สิ่งที่เราจะต้องรู้ และวิเคราะห์ตามติดก่อนลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้า คือ
1. ขนาดของโรงไฟฟ้า
โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
- IPP โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ กำลังผลิต > 90 MW
- SPP โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก กำลังผลิต 10 – 90 MW
- VSPP โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก กำลังผลิต < 10 MW
2. สัญญาซื้อขายไฟ
เราต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นสัญญาสัมปทาน หมายความว่าต้องมีการต่อสัญญากับภาครัฐ ซึ่งโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งมีสัญญาสั้น - ยาวไม่เท่ากัน
ดังนั้น เราควรรู้ว่าสัญญารายได้นั้นเป็นแบบไหน สัญญาสัมปทานจะหมดลงเมื่อไร ใครเป็นกลุ่มลูกค้า และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนปีละเท่าไร (IRR)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหุ้นโรงไฟฟ้าที่เราลงทุนเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (ที่ได้รับความนิยมสูงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) เป็นสัญญาแบบ Adder หรือ FiT
- Adder คือ อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า
พูดง่ายๆ คือ เป็นอัตราจูงใจให้นักลงทุนหันมาลงทุนทำโรงไฟฟ้ามากขึ้น โดยแลกกับสัญญาว่าจะได้กำไรดีมากๆ ในช่วง 7 หรือ 10 ปี แล้วแต่สัญญากำหนด
เมื่อสัญญาณจบลง จะกลับไปเป็นสัญญารูปแบบของ FiT แทน
- FiT หรือ Feed-in-Tariff เป็นอัตรารับซื้อราคาปกติ ซึ่งจะปรับตัวลดลงอย่างมาก
3. กำลังการผลิต
กำลังผลิตไฟฟ้าเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงขนาดธุรกิจ รวมถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่นักลงทุนต้องตรวจสอบประจำไตรมาส คึอ
- วันที่โรงไฟฟ้ามีการซีโอดี (COD) หมายถึง วันที่โรงไฟฟ้าเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือพูดง่ายๆ คือวันที่เริ่มขายไฟและมีรายได้เข้าบริษัทนั่นเอง
- Utilization rate อัตราการใช้กำลังผลิตโรงไฟฟ้า
เป็นการบอกว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยิ่งมากก็ยิ่งดี
- ทำไมเราถึงควรชอบ "หุ้นปันผล"
- รู้จัก CENTEL หุ้นธุรกิจโรงแรม ที่รายได้กว่าครึ่งมาจากธุรกิจอาหาร
- "ขาดทุนสะสม" คืออะไร ทำไมถึงลดมูลค่าหุ้นในระยะยาว ?
นอกจากนี้ ถ้าเราจะศึกษาเพิ่มเติม จำเป็นจะต้องรู้นโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศ หรือที่เราเรียกว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)
แผน PDP นับเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตธุรกิจโรงไฟฟ้าได้เลย เพราะเป็นแผนที่บอกว่าในแต่ละปีจะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าเท่าไหร่ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชนิดไหนบ้าง และในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าแบบไหนจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
เริ่มต้นค้นคว้าหาหุ้นโรงไฟฟ้าที่ใช่ ! ด้วยตัวเอง เริ่มต้นจาก 3 วิธีที่กล่าวมา
ทั้งนี้ มุมมองของนักลงทุนไม่เหมือนกัน
นักลงทุนบางกลุ่มอาจจะมองว่า ด้วยสาเหตุที่หุ้นโรงไฟฟ้าปรับตัวลงมา มีความสมเหตุสมผลอยู่แล้ว ผลประกอบการที่ไม่เติบโต กำไรที่ลดลงเรื่อยๆ
แต่ในขณะที่นักลงทุนบางกลุ่ม อาจจะมองว่า หุ้นโรงไฟฟ้าราคาลงมาแรง จังหวะนี้อาจจะเป็นจังหวะที่น่าสนใจ
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า หุ้นโรงไฟฟ้าเป็น Defensive Stock มีรายได้ที่แน่นอน อาจจะมองเป็นโอกาสก็เป็นได้เหมือนกันครับ