#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ย้อนรอยปัญหา ITD เข้าขั้นวิกฤต ที่กำลังสะเทือนกลุ่มแบงก์ของไทย

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,627 views

นักลงทุนน่าจะได้ยินข่าวมาบ้างแล้วเกี่ยวกับ ITD หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 
ที่กำลังเกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก ถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน
คำถาม คือ ก่อนจะมีวันนี้ของ ITD ปัญหาของบริษัทที่มีที่มาอย่างไร

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ITD เป็นรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของไทยที่มีรายได้หลากหลายช่องทาง
และมีโครงการมากมายจากภาครัฐที่รอรับงานบันทึกเป็นรายได้อยู่จำนวนมาก
แต่เนื่องด้วยความไม่ชัดเจนทางการเมือง รวมถึง"หุ้นกู้" ที่ออกไปก่อนหน้า ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้ ทำให้บริษัทเกิดการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น

อิตาเลียนไทยชี้แจงว่า ตลอดปี 2566 บริษัทประสบปัญหาจากปัจจัยภายนอกหลายประการ อาทิ สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย เท่านั้นยังไม่พอ อิตาเลียนไทยซึ่งรับงานของภาครัฐจำนวนมาก ยังเผชิญปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ล้าช้าและปริมาณงานที่ลดลง
อิตาเลียนไทยยังอยู่ระหว่างการขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน เพื่อเอาไปใช้เดินหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ และนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท โดยบริษัทชี้ว่าสินเชื่อที่จะได้มานั้น “จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้”

 

ประเด็นสำคัญที่สุด ที่ทำให้ ITD เกิดปัญหาและเราไม่อาจจะมองข้ามได้ คือ 
โครงการหลายแห่งของ ITD ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดการลงทุนที่ผิดพลาด เช่น 
- โครงการทวายในเมียนมา ที่อิตาเลียนไทยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,863 ล้านบาท แต่ถูกคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของเมียนมา  ยกเลิกสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2563
- ปัญหาการลงทุนในบังกลาเทศ ที่ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก เพราะสกุลเงินตากาของบังกลาเทศอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินกู้สกุลดอลลาร์ของบริษัทร่วมดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น
-  โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ดำเนินธุรกิจมานานแต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับ ITD อย่างมีนัยสำคัญ
และล่าสุด  ITD อาจจะต้องเจรจาต่างชาติ ขายหุ้นเหมืองโปแตช หลังขาดสภาพคล่องอย่างหนักก็เป็นได้

 

ซึ่งถ้าเราไปดูผลประกอบการย้อนหลัง ก็อาจจะไม่แปลกใจเท่าไรนัก 
เพราะบริษัทขาดทุนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
ปี 2562 บริษัทขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทขาดทุน 1.1 พันล้านบาท
ปี 2564 บริษัทขาดทุน 155 ล้านบาท
และปี 2565 บริษัทขาดทุนหนักถึง 4.75 พันล้านบาท
เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ในแง่ของผลประกอบการ 
ด้วยการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรสะสมของบริษัท เข้าขั้น "ติดลบ" มากถึง 4.51 พันล้านบาท
กดดันส่วนของผู้ถือหุ้น เหลือเพียง 8.45 พันล้านบาท ในปี 2566 
จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 13.13 พันล้านบาทในปี 2564

 

ไม่ใช่แค่งบดุลที่อ่อนแอ แต่ ITD ยังต้องเจอกับภาระหนี้ที่สูงอีกด้วย ..
ปัจจุบันอิตาเลียนไทยมีหนี้สินรวมที่ 107,600 ล้านบาท
ส่งผลให้อัตราส่วน D/E Ratio สูงถึง 9.14 เท่าสำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2566
จากเดิมที่อยู่ราวๆ 5.9 เท่าในช่วงปี 2564

 

จากสิ่งที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของ ITD ก่อนที่จะมีวันนี้ สถานการณ์ต่างๆ สะท้อนลงไปในงบการเงิน
ทำให้ ณ เวลานี้ ITD เกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก
และอาจจะลุกลามไปจนถึงธนาคารขนาดใหญ่ของไทย ที่เป็นเจ้าหนี้ของ ITD อยู่ก็เป็นได้ ...

 

 

นักวิเคราะห์จากหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ITD ขาดสภาพคล่อง และลามไปถึงผู้รับเหมารายย่อย 
เนื่องจากธนาคารเริ่มเบรกปล่อยกู้เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง
บล.กสิกรไทยมองว่า จากตัวเลขหนี้ของ 4 แบงก์ใหญ่ที่ปรากฏเป็นข่าว คือ 
1.ธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท 
2.กสิกรไทย 6,000 ล้านบาท 
3.ไทยพาณิชย์ 6,000 ล้านบาท 
และ 4.กรุงไทย 4,000 ล้านบาท 
เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการ แต่ก็เชื่อว่าแบงก์ดังกล่าวซึ่งมีฐานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ได้มีการสำรองหนี้ไว้ในระดับหนึ่งแล้ว 
แม้ว่าต้องใส่สำรองเพิ่มก็ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจธนาคาร

 

คำถาม คือ จากตัวตั้งสำรองเลขหนี้ของ 4 แบงก์ใหญ่ จะกระทบต่อกำไรมากแค่ไหน ? 
คำตอบ คือ กระทบไม่มาก เนื่องจากแบงก์แต่ละแห่งมีการตั้งสำรองไว้แล้ว และอาจจะไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม 100% 
เพราะว่ามีหลักประกันอยู่บ้าง แต่ตัวเลขที่คาดการณ์ดังกล่าวเป็น "ตัวเลขสูงสุด" ที่อาจจะเกิดขึ้น
โดย ธนาคารกรุงเทพจะกระทบกำไรในกรอบ 19%
- ไทยพาณิชย์ประมาณ 15% 
- กรุงไทยประมาณ 10%

ประเด็นต่อมาที่น่าคิดต่อไป คือ เรื่องของการปันผล
แน่นอนว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องกระทบอย่างแน่นอน แต่เราต้องไม่ลืมว่าผลกระทบจากการตั้งสำรองแล้วทำให้กำไรลดลง เป็นปัจจัยลบระยะสั้น และอาจจะเกิดขึ้นแค่ปีเดียว
แต่ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในแง่ของจิตวิทยาเชิงลบต่อการลงทุนต่อไปอีก 1-2 เดือน หรือจนกว่าจะเห็นความชัดเจน 
ว่าแต่ละแบงก์ต้องใส่เงินกันเท่าไหร่ และฝ่ายวิจัยมองว่างบฯไตรมาส 1/2567 น่าจะพอเห็นการสำรองเพิ่มของแต่ละแบงก์

 

ในภาพรวมระยะสั้น หุ้นกลุ่มแบงก์เกิดภาพเชิงลบ เพราะปัญหาการตั้งสำรองอาจจะทำให้การจ่ายปันผลมีแนวโน้มลดลง 
และส่งผลให้กำไรของกลุ่มแบงก์ชะลอตัวลงไปอีก 2-3% เทียบกับปี 2566 ที่ฐานสูงและมีการเติบโตจมากถึง 16%

------------------------------------------------------------------------------
Reference
BBC News

Thairath Money

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ผลประกอบการสำคัญ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง