เวลาเราพูดถึงหุ้นโรงแรม เชื่อว่านักลงทุนจะนึกถึงหุ้น 3 บริษัท คือ CENTEL, MINT และ ERW
แต่รู้หรือไม่ว่าในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่ทำธุรกิจโรงแรมจำนวนมาก และมีความน่าสนใจไม่แพ้หุ้นบริษัทดังกล่าวเลย
หนึ่งในนั้น คือ SHR หรือ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)
SHR คือ Holding Company ที่ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมและลงทุนในธุรกิจโรงแรมระดับนานาชาติ
ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ S หรือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่ Spin-Off ธุรกิจโรงแรมเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
ปัจจุบัน SHR มีโรงแรม 38 แห่งทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก เช่น มัลดีฟส์ หมู่เกาะฟิจิ
สาธารณรัฐมอริเชียส หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร
โดยกลุ่มโรงแรมที่น่าสนใจ เช่น โครงการ Crossroad และกลุ่มโรงแรมในเครือ Outrigger
ถ้าเราไปดูราคาหุ้นย้อนหลังตั้งแต่ปี 2567 ผ่านมาแล้ว 3 เดือน ราคาหุ้น Outperform ตลาดได้อย่างน่าสนใจ
โดยนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนราวๆ +12% เข้าไปแล้ว
ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เพราะสาเหตุอะไร SHR ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างโดดเด่น ?
คำตอบสั้นๆ ที่พอจะอธิบายได้ คือ ผลประกอบการที่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ SHR เข้ามาซื้อขาย ต้องยอมรับว่าบริษัทมีผลประกอบการที่ "ขาดทุน" มาโดยตลอด
ในปี 2562 บริษัทขาดทุน 466 ล้านบาท
ในปี 2563 บริษัทขาดทุน 2.37 พันล้านบาท
ในปี 2564 บริษัทขาดทุน 1.23 พันล้านบาท
ในปี 2565 บริษัท "กำไร" 14 ล้านบาท
และในปี 2566 บริษัทกำไร 86 ล้านบาท
ข้อสังเกต คือ ผลประกอบการเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พลิกกลับมามีกำไร
สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนแตะระดับ "หมื่นล้านบาท" เข้าไปแล้ว
อีกสาเหตุ คือ Valuation ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับราคาหุ้น
การที่บริษัทมีผลประกอบการที่ขาดทุน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
จนมี Valuation ที่ต่ำมาก เมื่อเทียบจากค่า P/BV จะพบว่าซื้อขายบริเวณ 0.48 เท่า
ผิดกับกลุ่มโรงแรมที่มีค่า P/BV เฉลี่ยอยู่ราวๆ 3.5 เท่า ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่ม
นักลงทุนจึงมองว่า Valuation ของ SHR ค่อนข้างต่ำ
เมื่อเทียบกับศักยภาพของบริษัทที่มีผลประกอบการดูดีขึ้นเรื่อยๆ
- กรณีศึกษา AWC กับกำไรที่ All Time High จากกลยุทธ์ "เปิด Hotel ก่อนเติม Retail"
- สรุปหุ้น PTT ปี 2567 โอกาสอยู่ที่ตรงไหน ?
- กรณีศึกษา MC กับการเติบโต โตเท่าตัวอย่างไร ในปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
คำถาม คือ ผลประกอบการของ SHR จะยังดูดีต่อเนื่องอีกไหม ?
คำตอบ คือ ยังมีแนวโน้มดูดีอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 จะแข็งแกร่งจากจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
และการฟื้นตัวของโรงแรมเอาท์ทริกเก้อร์ เมาริเทียส (Outrigger Mauritius Beach Resort) ที่ SHR จะรับรู้รายได้เต็มไตรมาส
เมื่อไม่นานมานี้ SHR ได้จัดการประชุมนักวิเคราะห์ โดยฝ่ายวิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อบริษัท
ผู้บริหารคาดว่า อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) ในปี 2567 จะเติบโตประมาณ 20-25%
โดยได้แรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในตลาดต่างประเทศ
ในขณะที่คาดว่า RevPar ของโรงแรมในประเทศในปี 2567 จะทรงตัวเนื่องจากแผนการปรับปรุงใหม่
เป้าหมายการเติบโตของ RevPar ของผู้บริหารที่ 20-25%
บริษัทยังมองอีกด้วยว่า RevPar ของตลาดต่างประเทศจะเติบโตหลักสิบในปี 2567
ซึ่งได้แรงหนุนหลักจากพอร์ตการลงทุนของแบรนด์ Crossroad และ Outrigger
ฝ่ายวิจัยกสิกร มองว่า RevPar ของ Crossroad จะเติบโตประมาณ 10-15% ในปี 2567
และคาดว่า RevPar ของ Outrigger จะเติบโตหลักสิบ
บริษัทยังเผยอีกด้วยว่า เตรียมงบประมาณการลงทุนรวม 1.5 หมื่นลบ. สำหรับการควบรวมกิจการในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 25% ภายในปี 2571
กลยุทธ์ของ SHR คือ การกระจายพอร์ตการลงทุนของโรงแรมเพื่อลดผลกระทบจากฤดูกาลต่อผลประกอบการของบริษัท
จากแผนงานที่ผ่านมาทำให้ฝ่ายวิจัยกสิกรไทยมองว่า SHR มีแนวโน้มระยะยาวสดใส
การปรับปรุงโรงแรมให้ทันสมัยช่วงดึงค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) เพิ่มขึ้น และการมีโรงแรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วโลก
จะทำให้ ADR สูงขึ้นในระยะยาวตามการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น
พูดง่ายๆ คือ แนวโน้มของ SHR อยู่ในระดับที่ "สดใส"
ผลประกอบการที่ฟื้นตัว และพื้นฐานของธุรกิจที่ดีมากๆ
เพราะโรงแรมที่ SHR เป็นเจ้าของอยู่ในโลเคชั่นที่มีศักยภาพจะปรับเพิ่มค่าห้องเพิ่มได้
SHR คืออีกหนึ่งบริษัทในธุรกิจโรงแรมที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
เพราะบริษัทมีแนวโน้มที่สดใส และ Valuation ที่ไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับกลุ่ม
อนึ่ง RevPar คือ รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก หรือ Revenue Per Available Room
รายได้ห้องพักเฉลี่ยของห้องที่มีทั้งหมด ในแต่ละช่วงเวลา โดยนำรายได้ห้องพัก หารจำนวนห้องทั้งหมดที่มี ... ซึ่งหน่วยจะเป็น "บาทต่อคืน"
RevPAR จะเป็นเครื่องมือในการชี้วัดว่า โรงแรมนำห้องพักที่มีมาสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องได้เท่าไหร่
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทย