เชื่อว่าหนึ่งในหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาหุ้นไม่สดใสเลย จะต้องมีหุ้น SCC หรือ ปูนซิเมนต์ไทย ติดอยู่ในนั้นแน่นอน
เพราะตั้งแต่เปิดต้นปีมา ราคาหุ้นปรับตัวลงไปแล้ว -5%
และถ้าใครถือหุ้นมากว่า 12 เดือน จะต้องขาดทุนไปแล้วเกือบ -20%
ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น SCC
ถ้าให้อธิบายสั้นๆ คือ ผลประกอบการที่แย่นานกว่าที่นักลงทุนคาดคิดเอาไว้
แต่ถ้าให้อธิบายแบบยาวๆ เราต้องมาวิเคราะห์ถึง 3 ธุรกิจหลักของ SCC ด้วยกัน ประกอบไปด้วย
1. ธุรกิจปิโตรเคมี กับผลประกอบการที่ "ขาดทุน"
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส คาดว่า ผลประกอบการ 4Q66 น่าจะขาดทุนหนักถึง 1.78 พันล้านบาท
เทียบกับกำไรสุทธิใน 3Q66 ที่ 1.05 พันล้านบาท
จากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานโอเลฟิส์ที่ระยอง และสถานการณ์ Spread ปิโตรเคมีที่ต่ำมากๆ
อีกทั้งโครงการ Long Son Petrochemical ที่เวียดนาม ยังขาดทุน
2. ธุรกิจปูนซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง กับความต้องการใช้ที่ยังไม่ฟื้นตัว
ฝ่ายวิจัย คาดว่าปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อน
การใช้ปูนซีเมนต์จากภาครัฐ ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง
และภาคเอกชน ก็ยังไม่ฟื้นตัว
ที่จะเห็นมีการเติบโตดีจะมีแต่เพียงอินโดนีเซีย
ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชา ยังคงเป็นการฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้าจากปัญหาภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนพลังงานที่ลดลง ทำให้ผลประกอบการในธุรกิจปูนซีเมนต์ออกมาดี
โดยฝ่ายวิจัยมองว่าน่าจะรายงานผลประกอบการ "กำไร" 827 ล้านบาท ใน 4Q66 (จาก 3Q66 ที่มีกำไร 176 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลอยู่ที่การตั้งสำรองด้อยค่าธุรกิจในเมียนมาร์
ซึ่งที่ผ่านมา SCC ตั้งสำรองไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 4.9 พันล้านบาท ยังเหลืออีก 2 พันล้านบาท
ถ้ามีการตั้งสำรองด้อยค่าอีก จะทำให้ธุรกิจพลิกกลับมาเป็นขาดทุนราวๆ 1 พันล้านบาท
- ส่อง CPAXT สาเหตุหุ้น +11% ตั้งแต่ต้นปี ผลประกอบการ MAKRO มีแนวโน้ม "สดใส"
- สรุปสาเหตุหุ้น M การฟื้นตัวที่ช้า ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงเกือบครึ่ง ?
- ปัจจัยบวกในตลาดหุ้นไทยปี 2567
3. ธุรกิจ Packaging กับการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า
ฝ่ายวิจัยคาดว่าธุรกิจ Packaging จะรายงาน "กำไรสุทธิ" 1.35 พันล้านบาท เติบโต 3%QoQ และเติบโต +202% YoY
ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นการเติบโตที่ช้าเมื่อมองจาก QoQ เพราะความต้องการใช้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น บางกลุ่มลูกค้าได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากการบริโภคภายในประเทศ แต่ก็ถูกทดแทนด้วยลูกค้าในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารที่ลดลง
ธุรกิจฟิลิปปินส์อยู่ใน Low Season แต่ก็ได้การเติบโตจากเวียดนามมาช่วยไว้
ปัญหา Oversupply ของโรงงาน Fajar ที่อินโดนีเซีย ทำให้มี Economy of Scale แต่ก็ไม่เพียงพอให้พลิกกลับมามีกำไรได้
หรืออย่างธุรกิจเยื่อกระดาษ (Fibrous Chain) ที่มีการซ่อมบำรุงโรงงาน แต่ก็ได้รับอานิสงค์จากราคาเยื่อกระดาษในจีนที่ปรับตัวสูงขึ้น
เรียกได้ว่าผลประกอบการ 4Q66 อยู่ในระดับที่ "ไม่สดใส"
จากธุรกิจปิโตรเคมีที่ลดลง การหยุดซ่อมบางโรงงาน
ธุรกิจ Packaging ฟื้นตัวน้อยกว่าที่คิดเอาไว้
และธุรกิจปูนซีเมนต์ ทีมีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนพลังงานที่ลดลง
แต่ความน่ากังวลคือการตั้งการด้อยค่าในธุรกิจที่เมียนมาร์ อาจจะเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัว
โดยสรุป บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส มองว่า ผลประกอบการ 4Q66 จะอยู่ที่ 1.22 พันล้านบาท ลดลง -60% QoQ
แต่ถ้ามีการตั้งสำรองด้อยค่าที่เมียนมาร์ เราอาจจะเห็นผลประกอบการที่พลิกกลับมาเป็น "ขาดทุนสุทธิ" ได้ในท้ายที่สุด ...
คำถามต่อมา คือ แล้วในปี 2567 ละ ?
คำตอบ คือ SCC อาจจะไม่สดใสในครึ่งแรก และครึ่งหลังจะอยู่ในรูปของการฟื้นตัว
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส มองว่า SCC ยังต้องเจอกับความท้าทายอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบ Supply Chain
และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผันผวน อาจจะทำให้ผลประกอบการดูไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ
น่าจะเป็นตัวผลักดันให้ราคาปิโตรเคมีกลับมาได้ในครึ่งปีหลัง ตามมาด้วยผลประกอบการของ SCC ที่น่าจะกลับมา Turnaround ได้ไม่ยาก
ฝ่ายวิจัย ยังสรุปอีกด้วยว่า SCC ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด และก้นหลุมอาจจะลึกกว่าที่คิด
เราอาจจะเห็นบทวิเคราะห์ปรับประมาณการผลประกอบการลง พร้อมกับราคาเป้าหมายที่ลงตามไปด้วย
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส ปรับลดราคาหุ้น SCC จากเดิม 340 บาท เหลือ 330 บาท
และมองว่าค่า P/E ที่เหมาะสมของ SCC ควรอยู่ที่ 15.8 เท่า ใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชีที่อยู่ราวๆ 342 บาท
ใครถือหุ้น SCC ต้องยอมรับว่าครึ่งปีแรกอาจจะยังไม่โดดเด่น
และเราต้องไปรอลุ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดหวังว่าราคาปิโตรเคมีน่าจะกลับมาได้
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส