เวลาเราพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี เรามักจะเข้าใจว่า
เทคโนโลยีส่งผลให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าเราพิจารณาแบบจริงๆจังๆ จะพบว่า เทคโนโลยีจะสร้าง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก
ส่งผลต่อทิศทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า
โดยเฉพาะภาคของการบริการที่นับวันจะมีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น
และเทคโนโลยีนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทย "เติบโตช้า" เพราะว่า
1. ไทยขาดความพร้อมด้านทักษะแรงงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี
จึงขาดแรงผลักดันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ และขาดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสม อาทิ การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก
2. ไทยมีกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างชาติในภาคบริการค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว
ภาครัฐ ภาคเอกชนฃอุตสาหกรรมของไทยจึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อปรับสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ (Service-based Economy) ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
คำถาม คือ เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังเป็นปัจจัยต้นน้ำหลักของโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข่งขันด้วยความเป็นอัจฉริยะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนพร้อมกับตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
คำตอบ คือ ประกอบไปด้วย 8 อย่างด้วยกัน คือ
1. เทคโนโลยีทางด้าน AI (Artificial intelligence)
หรือที่เรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึง นักสร้างปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI หรือ GenAI)
เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงในช่วงปีที่ผ่านมา โดย GenAI เป็นเทคโนโลยี AI ประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างผลลัพธ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ (Existing data)
โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเดิมถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่มีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น GenAI สามารถสรรค์สร้างผลลัพธ์ (Output) ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรที่เป็นข้อความโดยใช้การประมวลผลและตอบคำถาม รูปภาพ เสียง วีดิโอ งานออกแบบดีไซน์ โค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetics data) เป็นต้น
ทั้งนี้ GenAI จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำงานทั่วไปได้ด้วย
2. เทคโนโลยี IoT หรือ The Internet of Things
เน้นการพัฒนาระบบ Sensors เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์เข้ากับระบบบริหารจัดการต่างๆ ในโรงงานอัจฉริยะของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้ร่วมกับ AI ในธุรกิจบริการที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำ เช่น โรงพยาบาล และท่าอากาศยาน เป็นต้น
3. เทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือ Robotics
การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์จะแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกทั้งในภาคการผลิตและบริการ เมื่อปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในงานที่มีขั้นตอนชัดเจน เช่น บริการความสะดวกในสนามบินหรือศูนย์การค้า งานเสี่ยงต่อความปลอดภัย เช่น การเคลื่อนย้ายสิ่งของในธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งใช้ในงานระบบอัตโนมัติของภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานของ International Federation of Robotics พบว่า ปี 2565 ไทยมีการติดตั้งหุ่นยนต์ใช้งานในอุตสาหกรรมประมาณ 3,300 ตัว อยู่ในอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์
4. เทคโนโลยี Blockchain
เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นทั้งในภาคการเงินและธนาคาร ไปจนถึงธุรกิจบันเทิงและเกมส์ออนไลน์ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อออกแบบการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ โดยมูลค่าการใช้จ่ายในโซลูชั่น Blockchain ของโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 22.3% เป็น 23.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
- ภาพตลาดหุ้นไทยปีหน้า SET Index ควรอยู่ที่เท่าไร ?
- Good Stock at Good Price หุ้นดี ในราคาที่สมเหตุสมผล
- เสริมกลยุทธ์การลงทุน ในโลกยุค AI
5. เทคโนโลยี 3D printing
กำลังถูกใช้เพิ่มขึ้นมากขึ้นในงานออกแบบสินค้าปริมาณมากๆ ตามความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยเน้นการผลิตที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว แม่นยำ ด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ จนถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง
6. เทคโนโลยี Drone
เน้นสู่โดรนขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดเป็นโดรนโดยสารและโดรนขนส่งสินค้าในเชิงพาณิชย์ที่กำลังแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จีน และยุโรป
7. เทคโนโลยี Synthetic biology
เทคโนโลยีด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในการออกแบบและดัดแปลงพันธุกรรมที่กำลังมีบทบาทมากในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อาทิ การผลิตเนื้อสังเคราะห์จากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบ หรือการใช้พืชผลิตเนื้อสัตว์เทียมตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เน้นดูแลสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์
8. Carbon Capture and Storage หรือ CCS
เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสีเขียวตอบโจทย์กระแส ESG (Environment, Social, Governance) มุ่งสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ CCS จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปิโตรเลียม พลาสติก และซีเมนต์ เพื่อช่วยดักจับคาร์บอนไม่ให้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยใช้อุปกรณ์แยกคาร์บอนก่อนนำไปกักเก็บในชั้นหินใต้บาดาล ซึ่งคาร์บอนที่กักเก็บบางส่วนยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้
ที่เห็นได้ชัด คือ PTTTEP ได้ศึกษาแนวทางประยุกต์ใช้ CCS ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าสามารถนำมาใช้ได้ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติในปี 2569 โดยการฉีดคาร์บอนลงในบ่อน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน
8 เทคโนโลยี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลก สร้างมูลค่าเพิ่มในอีก 3 ปีข้างหน้า
ที่คนรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้ามครับ
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กรุงศรี