เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะรู้จัก โฮเวิร์ด มาร์ค (Howard Marks) เป็นอย่างดี
สาเหตุเป็นเพราะว่า บ่อยครั้งวอเร็น บัฟเฟตต์ มักจะกล่าวชื่นชมเขาว่า
"เมื่อผมเห็นบันทึกจาก Howard Marks ในกล่องจดหมายของผม นั่นคือสิ่งแรกที่ผมจะเปิดและอ่านมัน และผมได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเสมอ"
ถ้าเปรียบว่า รายงานประจำปี (Annual Report) ของบัฟเฟตต์ เป็นสิ่งที่นักลงทุนหามาอ่านมากที่สุด
บันทึกการลงทุน (Memo) ของโฮเวิร์ด มาร์ค ก็มีผู้ติดตามไม่แพ้กันเลยทีเดียว
ประเด็นล่าสุดที่ โฮเวิร์ด มาร์ค เขียน คือ ประเด็นเรื่องของ Sea Change หรือ น่านน้ำการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนไป
เขาเปรียบเทียบว่าตลอดชีวิตการลงทุนกว่า 53 ปีของเขา พบเจอการเปลี่ยนแปลงทางการลงทุน (Sea Change) ไปแล้วถึง 2 ครั้ง และครั้งนี้กำลังจะเป็นครั้งที่ 3
ครั้งแรก คือช่วงปี 1969 - 1975
ตั้งแต่เขาเริ่มเข้ามาทำงานใหม่ๆ เขาพบว่าหุ้น "อมตะ" ที่นักลงทุนต้องมีติดพอร์ตไว้ คือ หุ้นกลุ่ม Nifty Fifty หรือ หุ้น 50 ยอดนิยมที่ไม่มีคำว่าแพงเกินไป ซื้อได้เลยเพราะเดียวยังไงมันก็ขึ้นและทุกคนก็จะรวย
สุดท้าย ฟองสบู่แตก หุ้นราคาลงไปถึง 90% ทำให้เขาได้บทเรียนว่า ถ้าเราซื้อหุ้นคุณภาพดีแต่ราคาสูงเกินไป ก็อาจจะเป็นการลงทุนที่แย่ได้เหมือนกัน
คลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกแรก คือ นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
เมื่อมองย้อนกลับไป 50 ปี ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงลูกแรก
นักลงทุนแทบจะไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย ขอปลอดภัยไว้ก่อน
จนกระทั่งนายไมเคิล มิเก็น (Michael Milken) ได้ไอเดียในการลงทุนตราสารหนี้ที่เป็น Non - Investment Grade หมายความว่า ยอมได้รับความเสี่ยงที่สูงขึ้นแลกกับการถือครองตราสารหนี้ที่ไม่ใช่อันดับในการลงทุน
แนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายและคนก็หันมารับความเสี่ยงจากการเข้าซื้อตราสารหนี้ความเสี่ยงสูงเหล่านั้น
โฮเวิล์ด บอกว่า ตั้งแต่ปี 1978 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ปัจจุบัน มันมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เขาจึงบอกว่า นักลงทุนไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหมือนในอดีต
แต่นักลงทุนต้องบริหารจัดการความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมให้ได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2 คือ ช่วงปี 1990
ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อถีบตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ FED ต้องเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว และกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำนานกว่าถึง 40 ปี
มองย้อนกลับไปปี 1972 อัตราเงินเฟ้อยู่ที่ 3.2% และกระโดดขึ้นไป 11% ภายในปี 1974
และมันก็ทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาตลอด จนกระทั่งปี 1980 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 13.5%
คุณพอล โวคเกอร์ (Paul Allen Volcker) ได้เข้ามาเป็นประธาน FED และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20% เป็นการกดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ช่วงปลายปี 1983
ก่อนจะลดดอกเบี้ยลงมาให้อยู่ราวๆ 3-4% ในช่วงปี 1990 ผลจากการทำครั้งนั้นทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สองของเขา
เขายังกล่าวต่ออีกด้วยว่า การที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ
1. การมองในแง่บวกของสินทรัพย์เสี่ยง
2. การยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนมากขึ้น
3. ผลตอบแทนที่มหัศจรรย์ของตลาดหุ้น
ดัชนี S&P500 ขึ้นมาจาก 102 จุด ในปี 1982 มาเป็น 4,796 จุด ในปี 2022 เรียกได้ว่าใครที่ลงทุนในยุคนั้นถือว่าโชคดีเอามากๆ
สาเหตุที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนดี น่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่ถูก
คนหันมาบริโภคมากขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น และนักลงทุนยังสามารถ "กู้เงิน" มาลงทุนได้อีกด้วย หรือที่เราเรียกว่าใช้ Leverage เพื่อยกระดับผลตอบแทนให้มากขึ้น
- มองตลาดหุ้นไทยปีหน้า ทำไมหุ้นปันผลถึงน่าสนใจลงทุน ?
- เข้าใจงบกำไร-ขาดทุน ให้มากกว่าที่เคยเป็น
- Naked Short ขายหุ้นก่อน ซื้อคืนทีหลัง กำลังป่วนหุ้นไทยอยู่ตอนนี้
แต่หลังผ่านพ้นโควิด ในปี 2022 การที่ FED เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้น่านน้ำแห่งการลงทุนเริ่มเปลี่ยนไป เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 3
และโลกการลงทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า จะแตกต่างไปจาก 40 ปีที่ผ่านมา
เขาจึงแนะนำว่า "ตราสารหนี้" มีความน่าสนใจกว่า "หุ้น" ...
โฮเวิร์ด บอกว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ทำไมคนถึงมองว่ามันยังอยู่ในระดับสูงก็เพราะว่านักลงทุนสมัยนี้ต่างเห็นดอกเบี้ยลดลงมาตลอด 40 ปี จนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ต่อจากนี้ FED จะเริ่มคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ต่ำเตี้ยอย่างในปัจจุบัน
ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้เริ่มขยับใกล้เคียงกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% และมีความเสี่ยงที่สูงกว่า
เขายังเน้นย้ำอีกด้วยว่า ความเชื่อเก่าๆที่ว่า อยากได้ผลตอบแทนให้มากขึ้น ก็แค่เสี่ยงให้มากขึ้น อาจจะไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะผลตอบแทนเป็นเรื่องของความคาดหวัง
หากเราจะอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่ดี เราจำเป็นจะต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี
สิ่งที่น่ากังวล คือ การลงทุนที่ใช้ Leverage ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินมาลงทุน หรือบริษัทมหาชนที่กู้เงินมาลงทุนมากๆ จะลำบากและมีปัญหาของการล้มละลายเพิ่มมากขึ้น
โฮเวิร์ดเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงน่านน้ำการลงทุนครั้งที่ 3 ทำให้นักลงทุนต้องหันมาคัดเลือกสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานเหมาะสม ธุรกิจแข็งแกร่ง และไม่เปราะบางทางการเงิน จะเป็นโอกาสของนักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ดี
สุดท้าย โฮเวิร์ด ยังสรุปการลงทุนพื้นฐาน 6 ข้อ ที่เขียนขึ้นมาเมื่อ 28 ปีก่อนและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันด้วยกัน คือ
1. The Primacy of Risk Control
คือ การให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงก่อนเสมอ
โฮเวิร์ด บอกว่าถ้าเราทำได้เช่นนี้ติดต่อกันนับ 10 ปี เราจะได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าคนทั่วไปแล้ว
2. Emphasis on Consistency
คือ การสร้างผลตอบแทนให้สม่ำเสมอ
ไม่จำเป็นต้องดีเวอร์ๆแบบก้าวกระโดดในปีที่ตลาดร้อนแรง
หรือผลตอบแทนที่ติดลบอย่างมาก ในปีที่ตลาดย่ำแย่
3. The Importance of Market Inefficiency
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพ บางครั้งสินทรัพย์เสี่ยงก็ลงแบบไร้เหตุผล และขึ้นแบบบ้าคลั่ง
คำถาม คือ นักลงทุนจะมองหาผลประโยชน์จากความไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
4. The Benefits of Specialization
คือ การลงทุนในสิ่งที่ตัวเองมีความรอบรู้ และเข้าใจ
การกำหนดให้พอร์ตโฟลิโอแต่ละอันโฟกัสในการลงทุนเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการลงทุนแต่ละประเภท
คล้ายๆ Circle of Competence หรือขอบข่ายของความรอบรู้ของบัฟเฟตต์ ที่มักจะพูดเสมอ
5. Macro-Forecasting Not Critical to Investing
คือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม ส่วนใหญ่มาจากการ Bottom-up
หมายความว่า ดูหุ้นเป็นรายตัว ไม่ใช่การดูแต่ภาพใหญ่
6. Disavowal of Market Timing
ไม่จับจังหวะตลาด ลงทุนแบบมุ่งเน้นอยู่ตลอดเวลา
ตราบเท่าที่ราคาสินทรัพย์อยู่ในจุดที่เหมาะสม หากวันนี้ราคาถูกก็ควรจะซื้อ และหากถูกลงอีกก็ซื้ออีก
เขายังเน้นย้ำอีกด้วยว่า กุญแจแห่งความสำเร็จ คือ ซื้อที่ราคาต่ำ ขายที่ราคาสูง
และปล่อยให้พลังของการทบต้นทำงานของมันต่อไป
------------------------------------------------------------------------------
Reference
https://www.oaktreecapital.com/insights/memo/sea-change
https://www.businesstimes.com.sg/wealth/wealth-investing/sea-change-howard-marks-end-easy-money
https://thestandard.co/13-years-investment-strategies-and-why-they-may-not-work/
https://www.blockdit.com/posts/63aae078223f1daf21507188
https://www.setinvestnow.com/th/stock/how-to-pick-right-stocks