ดูเหมือนว่าช่วงนี้ปัญหาอย่างหนึ่งของนักลงทุนที่ดูงบการเงิน
มักจะมองว่า "งบกำไร - ขาดทุน" เป็นงบที่ใช้ดูไม่ได้
เพราะสุดท้ายแล้ว บริษัทที่มีกำไร แต่ก็มีปัญหาในภายหลังได้เหมือนกัน
ซึ่งความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างสิ้นเชิง
สาเหตุเป็นเพราะว่า งบกำไร - ขาดทุน คือสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ใช้ดูว่า บริษัทค้าขายแล้ว ได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน
แต่ประเด็น คือ นักลงทุนมักจะใช้ผิดวิธี กล่าวคือ
ดูแค่กำไร หรือขาดทุนเพียงอย่างเดียว
หรือไม่ก็ ถ้ากำไร (หรือขาดทุน) แล้วบริษัทได้กำไรมากแค่ไหน
โดยไม่ได้ดูส่วนอื่นๆประกอบเลย โดยเฉพาะงบดุลและงบกระแสเงินสด
เราต้องเข้าใจก่อนว่า งบการเงินประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
1. งบกำไร - ขาดทุน
2. งบดุล
3. งบกระแสเงินสด
สำหรับงบกำไร-ขาดทุน จะเป็นตัวช่วยบอกเราว่า ผลดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆ เป็นอย่างไร
และทำให้เรารู้ว่า บริษัทมีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และธุรกิจมีกำไรเท่าไร
ถ้าพูดถึงภาพกว้างๆ คือ รายได้ - ค่าใช้จ่ายทั้งหมด = กำไร
แต่ในความเป็นจริงแล้ว งบกำไรขาดทุนมีรายละเอียดมากกว่านั้น
ส่วนแรกๆที่เราต้องดู คือ "รายได้"
รายได้ จะบอกให้เรารู้ว่า รายได้ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ซึ่งหากเรานำไปเทียบกับรายได้ในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้เราเห็นแนวโน้มของรายได้ว่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยแค่ไหน เทียบ YoY หรือ QoQ
ส่วนต่อไป คือ "รายจ่าย"
รายจ่ายแบ่งออกเป็นหลายประเภท หลักๆ คือ ต้นทุนของสินค้าและบริการ
รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือที่เรามักเรียกว่า SG&A (Selling, General, and Administrative expenses)
รอลงมาอีกจะเป็น ต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายทางภาษี
และยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเรื่องของบัญชี เช่น การด้อยค่าของสินทรัพย์ ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
ส่วนที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด คือ "กำไร"
โดยกำไรจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1. กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit
คือ รายได้ - ต้นทุนขาย
บ่งบอกว่า สินค้าและบริการของบริษัท สามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าต้นทุนมากน้อยเพียงใด
2. กำไรจากการดำเนินงาน หรือ Operating Profit
คือ รายได้ - ต้นทุนขาย - SG&A
พูดง่ายๆคือ กำไรขั้นต้น ที่นำมาหักลบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เงินเดือนพนักงานเรียบร้อยแล้ว
บ่งบอกว่า การทำธุรกิจของบริษัท มีกำไรดีมากแค่ไหน
บางบริษัทมีกำไรขั้นต้นสูง แต่พอมาเป็นกำไรจากการดำเนินงานออกมาค่อนข้างต่ำ สาเหตุเป็นเพราะว่ามีการจัดโปรโมชั่น ทำการตลาดค่อนข้างมาก หรือเงินเดือนพนักงานที่ค่อนข้างสูง จ้างคนงานเข้่ามามาก ซึ่งก็จะส่งผลมายังกำไรจากการดำเนินงานนั่นเอง
3. กำไรสุทธิ หรือ Net Profit
คือ รายได้ - ต้นทุนขาย - ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร - ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย - ภาษี
พูดง่ายๆ คือ กำไรจากการดำเนินงาน นำมาหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและภาษี
หรือในอีกแง่หนึ่ง คือ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว และพร้อมจะนำส่งให้กับผู้ถือหุ้นในรูปแบบของเงินปันผล (หรือเก็บไว้ลงทุนต่อในปีหน้า)
ซึ่งกำไรสุทธิในบรรทัดสุดท้าย จะเป็นการสะท้อนภาพการทำกำไรของบริษัท
ว่าท้ายที่สุดแล้ว หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด บริษัทของเราจะมีกำไรเหลือเท่าไร
งบกำไร - ขาดทุน ถูกเข้าใจผิดว่าไม่สำคัญ
ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะงบกำไร-ขาดทุน คือด่านแรกๆที่ใช้ในการตรวจสอบบริษัท
เพียงแต่นักลงทุนให้ความสำคัญกับมันเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ตรวจสอบงบดุล และงบกระแสเงินสดเพิ่มเติม
เราแค่เข้าใจว่า บริษัทมีกำไรแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
โดยไม่ได้ตรวจสอบงบอย่างอื่น
ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้นักลงทุนรอบคอบขึ้น และเรียนรู้ว่า ดูงบกำไรขาดทุนแล้วอย่าลืมดูงบดุลและงบกระแสเงินสดที่สำคัญไม่แพ้กัน ไปพร้อมๆกัน ครับ