#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

SCGP การลงทุนที่อินโดนีเซีย อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
784 views

เวลาเราได้ยินว่าบริษัทจดทะเบียนไทย ไปลงทุนต่างประเทศ
โดยเฉพาะ "อินโดนีเซีย" เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวก
สาเหตุเป็นเพราะว่าอินโดนีเซีย มีประชากรมากถึง 280 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
น่าจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตอย่าง "ก้าวกระโดด"

 

แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น ... ? 
เรามาดูตัวอย่างหุ้น SCGP หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) 
SCGP ถือเป็นบริษัทลูกในเครือ SCC ที่ถือหุ้นอยู่ 72.12% เน้นในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร 
แบ่งออกเป็น 3 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ และสายธุรกิจรีไซเคิลและส่วนงานอื่น
ที่ผ่านมา SCGP มีฐานการผลิตกว่า 40 โรงงาน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย 
ซึ่งข้อมูลจาก Frost & Sullivan ระบุว่า SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย SCGP ใช้งบลงทุนขยายกิจการสูงมาก ...
และได้เริ่มลงทุนมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านการลงทุใน 5 บริษัทย่อย คือ PT Fajar Surya Wisesa Tbk.,    PT Dayasa Aria Prima (บริษัทย่อยของ Fajar), PT Primacorr Mandiri, PT Indorcorr Packaging Cikarang  และ PT Indoris Printingdo ที่เป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก 2 แห่ง โรงพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก 1 แห่ง และโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ 2 แห่ง
ในปี 2563 รายได้จากการขายในอินโดนีเซีย เท่ากับ 17,577 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.94 ของรายได้จากการขายรวม

 

เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าลงทุนใน Intan Group
Intan Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในอินโดนีเซียซึ่งดำเนินธุรกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ Surabaya, Semarang, Bekasi และ Minahasa โดยมีฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติและกิจการภายในประเทศ ในปี 2563 Intan Group มีรายได้ 1,329 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,057 ล้านบาท)

เรียกได้ว่า นักลงทุนมีความคาดหวังสูงมากว่า SCGP จะเติบโตอย่างมากในอินโดนีเซีย
แต่ประเด็นล่าสุด อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น
และ SCGP อาจจะเจอกับความท้าทายที่มากกว่าตลาดคาดคิดเอาไว้ ...

 

 

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เคจีไอ มีมุมมองว่า SCGP ได้ลดงบการลงทุนในอินโดนีเซียลงจาก 2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียงราวๆ 8-9 พันล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นอย่างมากในอินโดนีเซีย
และสถานการณ์ในจีนที่ยังมีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ "ลดลง"
โดยเฉพาะธุรกิจของ Fajar ที่อาจจะมีผลบขาดทุนหนักขึ้น และกดดันผลประกอบการในภาพรวมของ SCGP ในระยะถัดไป

ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 SCGP น่าจะรายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.32 พันล้านบาทด ลดลง -28% YoY และ -11% QoQ 
สาเหตุเพราะการดำเนินงานกลุ่ม Fibrous อ่อนแอ 
การปิดซ่อมบำรุงบางโรงงาน
และราคาเหยื่อกระดาษที่ลดลง ส่งผลให้ EBITDA Margin ลดลง
แต่จะได้แรงสนับสนุนจากต้นทุนพลังงานที่ลดลง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแข่งขันที่เข้มข้นและอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
... ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ตลาดน่าจะมีการปรับประมาณการลงในท้ายที่สุด รวมถึงราคาเป้าหมายมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย 
ในปัจจุบัน ยังไม่เห็น Sentiment เชิงบวกมากพอที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้น


บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส วิเคราะห์ว่าการเติบโตของ SCGP อยู่ในระดับที่ "ยากกว่าเดิม" ...
การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม Packing Paper
ปัญหา Oversupply ในประเทศ ทำให้ Fajar มีผลขาดทุนมากถึง 518 ล้านบาท (จากกำไร 125 ล้านบาท)
การซ่อมบำรุงบางโรงงาน และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่อ่อนแอ ทำให้ราคากระดาษลดลง

ฝ่ายวิจัย มองว่า ผลประกอบการ 3Q66 น่าจะมีกำไรสุทธิ 1.32 พันล้านบาท (ใกล้กับที่ตลาดคาด)
โดยเฉพาะผลประกอบการในประเทศอินโดนีเซีย กดดันผลประกอบการในภาพรวม
และในอนาคต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและในกลุ่มอาเซียน ที่ดูจะไม่ง่าย สร้างความกังวลให้ SCGP มากกว่าเดิม 
ฝ่ายวิจัย แนะนำนักลงทุน "ลดน้ำหนักการลงทุน"
และยังมองว่าผลประกอบการตั้งแต่ปี 2566 - 2570 น่าจะลดลงเฉลี่ยราวๆ -11% ต่อปี และการประเมินมูลค่าจะมีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น


สรุปคือ การลงทุนในอินโดนีเซีย อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด
ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นภาพคือ SCGP ที่มีการลงทุนสูงมากในอินโดนีเซีย
และนักลงทุนก็คาดหวังในการเติบโต
แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น SCGP ยังต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรง
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด
ยังไม่รวมต้นทุนทางการเงินในระดับสูง 
พูดง่ายๆคือ เราอาจจะต้องเจอกับสภาวะดอกเบี้ยสูงต่อไป ซึ่งยังไม่เห็นเลยว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงได้เมื่อไร

------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เคจีไอ

ผลประกอบการสำคัญ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

SCGP ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ต่อยอดความสำเร็จตลาดอินโดนีเซีย

สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน  : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง