#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#มือใหม่เริ่มลงทุน

Margin of Safety ด้วย P/E Ratio ในแบบของมือใหม่

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
2,905 views

วอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนานเคยกล่าวไว้ว่า กฏการลงทุนของเขามีอยู่ 2 ข้อ คือ 
1. จงอย่าขาดทุน
2. จงอย่าลืมกฏข้อที่ 1 
ปัญหา คือ เราจะลงทุนอย่างไรให้มีโอกาสขาดทุนน้อยที่สุด 
คำตอบ คือ ซื้อหุ้นที่มี Margin of Safety (ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย)

พูดกันแบบง่ายๆ คือ การลงทุนที่ดี คือซื้อหุ้นในราคาที่ไม่แพง
ถ้าราคาหุ้นแพงไปแล้ว และเราไปซื้อย่อมไม่ใช่การลงทุนที่ดี ...

 

Margin of Safety หรือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย 
เมื่อนักลงทุนประเมินมูลค่าหุ้นได้มูลค่ายุติธรรม (Fair Price) แล้ว 
ก็ต้องใส่ส่วนเผื่อความปลอดภัยเข้าไปด้วย 
เช่น บริษัท A เรามองว่ามูลค่ายุติธรรม น่าจะอยู่ราวๆ 10 บาทต่อหุ้น 
หากเราตั้ง Margin of Safety ไว้สัก 20% หมายความว่าเราควรจะซื้อหุ้น A ที่ราคา 8 บาทลงมา จะถือว่าการซื้อของเรามี Margin of Safety

 

แล้วทำไมเราจะซื้อหุ้นต้องมี Margin of Safety 
สาเหตุเป็นเพราะว่า ในทุกๆวันมีปัจจัยกระทบตลาดหุ้นมากมาย และสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อราคาหุ้นให้เปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน และไม่สามารถคาเดาได้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปสูงเท่าไร หรือหยุดลงตรงจุดไหน 
... ราคาหุ้นในการลงทุนนั้นจะประกอบไปด้วย 2 ราคา คือ ราคาตลาด (Market Price) ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่เราเห็นในกระดาน 
และราคามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) คือ ราคาที่ควรจะเป็น หรือบางตำราอาจจะบอกว่าเป็นมูลค่าโดยเนื้อแท้
และการคำนวณส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย Margin of Safety จะทำให้เราซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาที่เราจะซื้อในตอนแรก เหมาะกับนักลงทุนสาย VI ที่จะไม่ซื้อหุ้นที่ราคา Overvalue ที่ราคาตลาดอยู่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง

 

 

การเข้าซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องยาก
ประเด็นคือ ถ้าเราเป็นมือใหม่ (แบบมากๆ) เราจะหา Margin of Safety ได้อย่างไร ? 
ต้องยอมรับว่าวิธีการหา Margin of Safety ไม่มีสูตรในการคำนวน หรือวิธีหาแบบตายตัวนำไปใช้แล้วได้กำไรทุกครั้ง 
วิธีการหา Margin of Safety มีหลายวิธี เช่น 
การหาจากค่า P/E Ratio, P/BV Ratio 
การหาจากส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow)
มูลค่ากิจการจากการทดแทน (Replacement Approach) 
หรือแม้แต่การเฝ้ามองกิจการว่ายังพอไปได้ไหม และคาดหวังเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) 
ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน 
จะเห็นได้ว่าวิธีการหา Margin of Safety ไม่มีหลักการที่ตายตัว
แต่วิธีที่มือใหม่นิยมใช้ และเข้าใจได้ง่ายที่สุด คือ การใช้ค่า P/E Ratio ในการประเมินว่าหุ้นควรมีราคาที่เท่าไร ...

 

เช่น ในกรณีของหุ้น A ที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก 
โดยปกติ P/E เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มค้าปลีกจะอยู่ราวๆ 15-20 เท่า 
ดังนั้น หุ้น A ก็ควรมี P/E อยู่ระดับนี้ด้วยเหมือนกัน 
ถ้าช่วงใดช่วงหนึ่ง P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น 13 เท่า ราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท เราก็อาจจะมองว่าหุ้นค่อนข้าง Undervalue ไปแล้ว 
และถ้าเราคิดว่า หุ้นน่าจะมี Margin of Safety สัก 20% เราก็อาจจะไปรอซื้อที่ 8 บาท

หรืออย่างในกรณีเดียวกัน เราประเมินมูลค่าหุ้นแบบอนุรักษ์นิยมว่าในสภาวะตลาดแบบนี้ไม่ควรให้ P/E ratio สูงมาก ควรให้ไม่เกิน 10 เท่า  (ทั้งที่ค่าเฉลี่ย P/E อยู่ที่ 15-20 เท่า) ก็ถือว่าเป็นการซื้อหุ้นแบบมี Margin of Safety ได้ด้วยเหมือนกัน

ตัวอย่างจริง เช่นในกรณีของหุ้น HMPRO
หุ้น HMPRO ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 12.70 บาท มีค่า P/E ที่ 26 เท่า
ถ้าเรามองว่าหุ้น HMPRO ควรมี P/E ที่ 20 เท่า ด้วย EPS ที่ 0.47 เท่า (ใช้ตัวเลขของปี 2565) เท่ากับว่าราคาหุ้น HMPRO ควรจะอยู่ที่ราคา 9.4 บาทต่อหุ้น 
ถ้าเราใส่ Margin of Safety สัก 20% ราคาหุ้นที่เราจะซื้อควรจะอยู่ราวๆ 7.52 บาทต่อหุ้น 
หรือถ้าเราใส่ Margin of Safety สัก 50% ราคาหุ้นที่เราจะซื้อควรจะอยู่ราวๆ 4.70 บาทต่อหุ้น

การหาราคาที่เหมาะสม และซื้อหุ้นที่มี Margin of Safety ไม่มีวิธีการที่ตายตัวแต่ละคนมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน
แต่นักลงทุนมือใหม่ ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน คือใช้ค่า P/E Ratio ในการเปรียบเทียบ
เมื่อเรามีความชำนาญแล้ว อาจจะใช้วิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น Discounted Cash Flow เป็นต้น 
จะช่วยให้การลงทุนของเรามีความปลอดภัยมากขึ้น มีความเสี่ยงที่เหมาะสมและไม่บาดเจ็ดจากตลาดมากนัก ถ้าอยู่ในสภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลงแบบเต็มตัว

 

สิ่งสำคัญที่เราห้ามลืม คือ หัวใจของการลงทุนที่ต้องมี Margin of Safety คือ ต้องอดทน รู้จักรอคอย และกล้าซื้อในช่วงเวลาที่คนอื่นกลัว
ซึ่งอย่างหลัง คือ สิ่งที่ยากที่สุดในทางปฏิบัติ 
อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ จงซื้อในขณะที่คนอื่นกลัว และจงขายในขณะที่คนอื่นกำลังโลภ ...


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง