#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

อธิบายการแจกเงินดิจิทัล ถึงเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
949 views

ต้องยอมรับว่าการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท โดยใช้งบสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และดูจะมีมูลค่าสูงมาก
แต่ทำไมหลายบทวิเคราะห์ถึงมีมุมมองไปในทางเดียวกันว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย"
ถ้าให้อธิบายแบบสั้นๆ น่าจะประกอบไปด้วย 3 เหตุผลด้วยกัน คือ

 

1. นโยบายแบบแจกเงินแบบเหวี่ยงแห คือ ได้ทุกคน อาจจะไม่ตอบโจทย์
ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่สูง ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมหรือไม่ 
เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดด้านการคลังและสถานการณ์จที่ใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

2. การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีความคุ้มค่าเพียงใด มีประสิทธิมากน้อยเพียงใดภายใต้ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง

 

3. ผลได้ผลเสียของนโยบายในระยะยาวเป็นอย่างไร 
เพราะการใช้ทรัพยากรทางการคลังที่เน้นผลระยะสั้นและมีต้นทุนสูงเช่นนี้ จะสร้างข้อจำกัด ความเสี่ยงทางการคลังและเศรษฐกิจ อีกทั้งอาจสร้างผลกระทบในทางลบ เช่น การบั่นทอนวินัยทางการเงินและการต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ และผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด 
ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทได้

 

ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายครั้ง และก็ประสบความสำเร็จ
แต่เนื่องด้วยบริบทที่แตกต่างกัน เช่น ในปี 2540 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากการลงทุนจากต่างชาติจากค่าเงินบาทอ่อน การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมาก และสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้นส่งผลต่อรายได้ในภาคเกษตร ทำให้เศรษฐกิจไทยหลักต้มยำกุ้งขยายตัวได้ดี

แต่สำหรับครั้งนี้ ไม่เหมือนกัน เพราะแรงหนุนที่กล่าวมา ไม่ได้มีความคล้ายเหมือนปี 2540 แต่กลับกลายเป็น "แรงต้าน" ต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เช่น
... ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การบริโภคที่ลดลง และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้ามากในช่วงที่ผ่านมา
... เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ต้นทุนทางการเงินสูง 
... ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของไทยมีมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งด้านต่างประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับต่ำลงและด้านการคลังที่หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมากจึงเป็นความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรและค่าเงินบาท
พูดง่ายๆ คือ การแจกเงินอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เหมือนอย่างที่ผ่านมา

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่า การแจกเงินดิจิทัล มากมายเพียงไหน
KKP Research อธิบายว่าขนาดของเงิน คิดเป็น 3.6% ของ GDP แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 1% เท่านั้น 
พูดง่ายๆ คือ การแจกเงินเป็นการทั่วไปอาจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าต้นทุนต่อรัฐจากเงินที่แจกออกไป
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
คำตอบ น่าจะมาจาก 3 เหตุผลด้วยกัน คือ 
1. การใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการใช้จ่ายที่จำเป็น แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว
2. การใช้จ่ายบางส่วนมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูง
3. เกิดความต้องการซื้อ (Demand) ในอนาคต เมื่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจบลง Demand ก็จะกลับมาเท่าเดิมหรืออาจจะลดลงเพราะคนบริโภคไปล่วงหน้าแล้ว
KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม
แต่สิ่งที่ต้องแลก มาก คือ ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง และทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ในเวลาไม่ถึง 10 ปี

 

นอกจาก 3 เหตุผลที่กล่าวมา ยังเกิดข้อเสียอีกมากในทางอ้อม เช่น 
... การใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เกิดขาดดุลการคลังพร้อมกับดุลบัญชีเดินสะพัด
ซึ่งความกังวลนี้ชี้ให้เห็นแล้ว จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง 
... การขาดดุลของภาครัฐ ภาระจากมาตรการกึ่งการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก 
และความกังวลต่อวินัยทางการคลังของรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 
... ต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะนำเงินไปพัฒนาหรือปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเชิงโครงสร้างในระยะยาว
เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยี หรือแม้แต่การลงทุนทางด้านคนไทยให้เข้าถึงความรู้มากขึ้น

 

คำถาม คือ ถ้าอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควรทำอย่างไร ? 
KKP Research เสนอทางแก้ 2 ข้อด้วยกัน คือ 
1. ให้ความช่วยเหลือ "เฉพาะกลุ่ม"
เช่น กำหนดเงื่อนไขการแจกเงิน กลุ่มที่มีรายได้เกินเท่าไรหรือมีทรัพย์สินเกินเท่าไร จะไม่ได้รับการแจกเงิน
จะทำให้ประหยัดงบไปได้มาก ลดต้นทุนการดำเนินนโยบาย และช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

2. นำเงินไปพัฒนาด้านนวัตกรรม หรือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว
KKP Research แนะนำว่า มี 3 ส่วนที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข คือ
... ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจของภาคเอกชน 
ส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจใหม่ๆ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
... พัฒนาคุณภาพของคนในประเทศ
การอบรมในระดับแรงงาน ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
... ส่งเสริมให้ประเทศเข้าสู่ Green Economy 
ลดปริมาณขยะ ลดฝุ่น PM2.5 เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดการปล่อยคาร์บอน ส่งเสริมเครื่องยนต์ที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

สรุปคือ การแจกเงินมีข้อดี แต่ข้อเสียที่มีก็มากด้วยเหมือนกัน
พูดง่ายๆ คือ การแจกเงินดิจิทัล เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ตรงจุด
และยังสร้างปัญหาทางการคลังในระยะยาวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ...
ภาครัฐอาจจะมีการเปลี่ยนแผนเป็นการแจกเงินเฉพาะกลุ่ม เพิ่มทักษะแรงงาน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ รวมถึงนำประเทศเข้าสู่ความเป็น Green Economy จะเป็นเรื่องสำคัญที่แก้ปัญหาในระยะยาวได้ดีมากกว่าครับ


อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ : https://media.kkpfg.com/document/2023/Oct/Will-government-economic-policy-worth-its-cost_Final.pdf

------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง