#แนวคิดด้านการลงทุน

"ซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวร้าย ขายเมื่อมีข่าวดี" อาจจะเป็นคำแนะนำที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากที่สุด

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
2,995 views

หลายๆครั้ง นักลงทุนมักจะได้ยินคำแนะนำว่า
ซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวร้าย ขายเมื่อมีข่าวดี หรือภาษาอังกฤษที่มักจะพูดกันว่า "Buy on rumor, Sell on fact"
หรือพูดง่ายๆ คือ ซื้อเมื่อสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน (มีข่าวร้าย) และขายเมื่อความจริงปรากฏ (ข่าวดีออกมาแล้ว)

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ช่วงที่ผลประกอบการออก ...
ทำไมหุ้นหลายๆตัวที่ผลประกอบการออกมาดี แต่ราคาหุ้นลง (Sell on Fact) ขายเมื่อความจริงปรากฏ
เพราะนักเก็งกำไร เล่นเก็งกำไรผลประกอบการกันก่อนหน้านั้นแล้ว
ในทางกลับกัน หุ้นที่งบออกมาแย่ แต่ราคาหุ้นกลับนิ่ง 
ดีไม่ดี ราคาหุ้นกลับบวกสวนได้อย่างน่าประหลาดใจ (Buy on rumor) เพราะนักลงทุนรู้มาก่อนหน้านั้นแล้ว
ว่าผลประกอบการออกมาไม่ดี 
แต่สิ่งที่นักลงทุนมอง คือ ไตรมาสหน้าผลประกอบการจะออกมาดี (Buy on rumor) 
ซึ่งในความเป็นจริง ดีหรือไม่ดี ไม่มีใครรู้ แต่เล่นเก็งกำไรกันล่วงหน้าไปแล้ว

 

ทำให้นักลงทุนมักจะคิดไปว่า "ซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวร้าย ขายเมื่อมีข่าวดี" คือ กลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ได้ดีในตลาดหุ้นไทย
หรือตลาดหุ้นที่มักจะ "Corner" หุ้นกันอยู่บ่อยครั้ง
แต่รู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว กลยุทธ์นี้อาจจะเป็นอาจจะเป็นคำแนะนำที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากที่สุด ...

สาเหตุเป็นเพราะว่า ...
สิ่งที่นักลงทุนเห็น เป็นเรื่องของระยะสั้น 
เป็นเรื่องของการเก็งกำไรกันในตลาด แต่ระยะยาวแล้วราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นลงตามพื้นฐานจริงๆของบริษํท
หลายๆครั้ง หุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาดี
ราคาหุ้นอาจจะถูกเทขาย เพราะนักเก็งกำไรขายออกมาเมื่อข่าวดีออก
แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ราคาหุ้นก็จะกลับมา และทำ New High จากจุดที่โดนเทขายออกมา

 

หุ้นที่ประกาศผลประกอบการออกมาไม่ดี
อาจจะนิ่ง หรือวิ่งขึ้นได้บ้าง เพราะตลาดรับรู้แล้ว ราคาหุ้นลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ราคาหุ้นก็จะถูกเทขายลงไปอีก และอาจจะทำ New Low ได้ในท้ายที่สุด

กรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เช่น หุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ประเด็นข่าวร้ายแรกๆ ที่เริ่มมี คือ การประกาศเข้าซื้อ LEONI บริษัทสัญชาติเยอรมันที่ทำธุรกิจประเภทโซลูชันสายเคเบิลสำหรับยานยนต์
มีการเพิ่มทุนพร้อมแล้ว และอยู่ดีๆก็ประกาศว่า "ไม่ซื้อ" พร้อมกับราคาหุ้นที่ถูกเทขายอย่างรุนแรง
ถ้าเราคิดว่า ข่าวร้ายให้ซื้อ เราก็อาจจะพลาดได้ เพราะในเวลาต่อมา STARK ประกาศล้มละลายในเรื่องของการปลอมแปลงบัญชี

อีกกรณีศึกษาหนึ่ง คือ หุ้น EARTH (เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ) อดีตหุ้น Big Cap ที่ทำธุรกิจถ่านหิน
ประเด็นข่าวร้ายแรกๆ คือ การโดน Force Sell หุ้นของกลุ่มผู้บริหาร 339 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด
ถ้าเราคิดว่า "ข่าวร้ายให้ซื้อ" เราก็อาจจะติดหุ้น EARTH ตลอดกาล
เพราะหลังจากนั้น EARTH มีประเด็นเรื่องมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาแบบมหาศาล และโดนฟ้องยื่นล้มละลายในเวลาต่อจนตลาดหลักทรัพย์ต้องหยุดการซื้อขายมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ "ซื้อเมื่อมีข่าวร้าย" อาจจะเป็นคำแนะนำที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนมากที่สุด คำแนะนำหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

คำถาม คือ เราจะหาโอกาสซื้อได้เมื่อไร 
คำตอบ คือ ซื้อเมื่อมีข่าวดี จะเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมมากกว่า
แต่ทั้งนี้ ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขของราคาหุ้นด้วยว่า รับรู้ข่าวไปมากน้อยแค่ไหน

ครั้งหนึ่ง ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จสูงมาก เคยแนะนำไว้ว่า
กลยุทธ์ที่เขาเลือก คือ ซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวดี จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การซื้อหุ้นเมื่อมีข่าวร้าย
เพราะหุ้นที่มีข่าวร้าย อาจจะมีข่าวร้ายยิ่งกว่าซ่อนไว้อยู่ เพียงแต่นักลงทุนไม่รู้

ดังนั้น กลยุทธ์ที่ได้ผลจริงๆ คือ ซื้อเมื่อมีข่าวดี 
แต่เขาจะไม่รีบซื้อทันที เขาจะรอจนราคาหุ้นนิ่งถึงระดับหนึ่ง ประเด็นข่าวดีเริ่มเห็นผลมากในอนาคต 
เขาจึงจะเข้าซื้อถึงแม้จะแพงเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เหรียญก็เป็นเรื่องที่รับได้ 
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เช่น ประเด็นเรื่องของการควบรวมกิจการ 
เมื่อบริษัทไหนมีการรวมกิจการ นักเก็งกำไรจะรีบซื้อ รีบขายหุ้นก่อนเลย 
แต่ตัวเขาจะจดชื่อหุ้นใส่สมุดจดบันทึกของเขา แล้วติดตามผลประกอบการของบริษัทไปอีกสัก 2-3 ไตรมาส เพื่อรอดูว่าการ Synergy ที่จะเกิดขึ้นดีมากน้อยแค่ไหน แล้วค่อยพิจารณาเข้าซื้ออีกที

และถ้าเป็นไปได้ เขาจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีข่าวร้าย เพราะอาจจะมีข่าวร้ายกว่าซ่อนเอาไว้อยู่ ...


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง