#แนวคิดด้านการลงทุน

หลักคิดของนักเลือกหุ้นระดับเซียน

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เผยแพร่:
1,271 views

ผมเป็นคนที่ชอบอ่าน Quote หรือ “คำคม” ของคนที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะในเรื่องที่ผมสนใจ ผมคิดว่ามันให้ข้อคิดที่ดีและทำให้เราจำได้เวลาที่ผมประสบกับเรื่องนั้น ผมจะได้คิดตรึกตรองอย่างลึกซึ้งขึ้น และ “คำคม” เกี่ยวกับการลงทุนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชอบและก็มักจะจำได้ แม้ว่าจะไม่ตรงกับคำพูดของคนนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมก็มักจะจำเนื้อหาหลักของมันได้ ลองมาดูกันว่า “เซียนหุ้น” หรือนักเลือกหุ้นชั้นนำเขาพูดหรือคิดอะไรกันบ้าง


คนแรกที่ผมคิดและจดจำเสมอเวลาจะลงทุนในหุ้นแต่ละตัวก็คือคำคมของ วอเร็น บัฟเฟตต์ที่ว่า “กฎข้อแรกของการลงทุนก็คือ อย่าขาดทุน และกฎข้อสองของการลงทุนก็คือ อย่าลืมกฎข้อแรก และนั่นก็คือกฎทั้งหมดที่มี” นี่เป็นกฎที่ดูไม่ได้มีอะไรโดดเด่น เพียงแต่เป็นการเล่นคำ อย่างไรก็ตาม เพราะมันเป็นคำพูดของบัฟเฟตต์ เซียนหุ้นหมายเลข 1 ของโลก มันจึงมีความหมายและกลายเป็นคำคมที่คนรู้จักมากที่สุด—แม้ว่าน้อยคนจะปฏิบัติตามจริง ๆ


สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นหลักการที่ผมยึดถือมากที่สุด ผมเชื่อว่าเขาพูดอย่างมีความหมายและจริงจัง เบื้องหลังของมันก็คือ การลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ของบัฟเฟตต์ทุกครั้งจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านที่ว่ามันจะมีโอกาสผิดพลาดและทำให้ขาดทุนในระยะยาวหรือไม่ ถ้ามี เขาก็จะไม่ซื้อ แม้ว่าโอกาสที่จะกำไรมหาศาลจะสูงกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งว่าเขาจะลงทุนในหุ้นจำนวนน้อยตัวมากเมื่อเทียบกับนักลงทุนอื่นที่มีพอร์ตใหญ่เช่นกัน และก็แทบจะไม่ขายหุ้นเลยหลังจากซื้อแล้ว


สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อหลักคิดของบัฟเฟตต์ข้อนี้ก็คือ สถิติการลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงเวลากว่า 70 ปี ของเขานั้น มีหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เขาลงทุนและต้องขายขาดทุนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วหุ้นแต่ละตัวจะกำไรมหาศาลเนื่องจากเขาถือมายาวนาน แน่นอนว่ามีหุ้นหลายตัวที่ “น่าผิดหวัง”และเขาต้องขายออกไป แต่ที่ขาดทุนจริง ๆ นั้นมักจะมีน้อย


เหตุผลก็คือ ในหลายกิจการที่เขาไม่แน่ใจในผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากอาจจะกำลังประสบปัญหาในยามที่เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมกำลังตกต่ำ เช่นหุ้นสถาบันการเงินหรือหุ้นการบินบางตัว เขาก็มักจะเลือกลงทุนในพันธบัตรที่สามารถแปลงเป็นหุ้นได้ ซึ่งถ้าบริษัทไม่ฟื้นตัวดีแต่ก็ไม่ถึงกับเจ๊ง เขาก็สามารถถอนทุนออกมาโดยการไม่แปลงสภาพเป็นหุ้นและรับดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงแทน


หลักคิดที่สอง ก็คือของ จอร์จ โซรอส ซึ่งก็ถือว่าเป็น “เซียนนักเก็งกำไรบันลือโลก” คำคมของเขาที่นักเก็งกำไรทั่วโลกยึดถือก็คือ “มันไม่ใช่เรื่องที่คุณจะถูกหรือผิดในการเลือกหลักทรัพย์ลงทุน แต่เป็นเรื่องว่าคุณจะกำไรเท่าไรถ้าคุณถูก และจะขาดทุนเท่าไรเมื่อคุณเลือกผิด”


ความหมายของโซรอสก็คือ คุณจะขาดทุนหุ้นกี่ตัวและกำไรกี่ตัวก็ไม่สำคัญ ถ้าเวลาที่ขาดทุนนั้นก็อย่าขาดทุนมาก คืออย่าไปเล่นมากถ้ายังไม่แน่ใจ เช่น ซื้อไปแล้วหุ้นก็ไม่ได้วิ่งไปไหนหรือซื้อแล้วหุ้นตกลงไปด้วยซ้ำ ในกรณีแบบนี้ ไม่ต้องคิดซื้อถัวเพื่อลดต้นทุนอะไรทั้งสิ้น ต้องขายทันที แต่ถ้าซื้อแล้วหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงและมีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงขึ้นชัดเจน ก็จะต้อง “อัดเต็มแม็ก” ทำกำไรจากหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้นอย่างมหาศาลมากกว่าการขาดทุนที่ซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ผิดพลาดหลาย ๆ ตัว


และนั่นก็คือแนวทางการเลือกหรือเล่นหุ้นหรือหลักทรัพย์ของโซรอสที่มีเรื่องเล่าว่า เวลาที่ลูกน้องเสนอจะซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวไหน โซรอสจะลองทดสอบดูว่าหุ้นจะดีจริงหรือเปล่าโดยการชอร์ตหรือขายหุ้นตัวนั้นก่อนแบบทุ่มเข้าไปล็อตหนึ่ง ถ้าหุ้นตกอาจจะเพราะไม่ค่อยมีคนรับพอ เขาก็จะถอยจากหุ้นตัวนั้น อาจจะโดยการปิดชอร์ต และทำกำไรเล็กน้อย แต่ถ้าหุ้นไม่ตกและกลับปรับตัวขึ้นไปซึ่งก็จะทำให้เขาขาดทุนเล็กน้อยเมื่อต้องซื้อหุ้นตัวนั้นกลับ แต่หลังจากนั้น เขาก็จะซื้อหุ้นตัวนั้นแบบ “จัดเต็ม” และหวังว่าหุ้นจะวิ่งขึ้นไปอย่างแรง ทำกำไรได้มหาศาล


หลักคิดที่สาม เป็นของชาลี มังเกอร์ คู่หู วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นคน “ปากจัด” ไม่แคร์ใครหรือต้องรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง “ซิกเนเจอร์” ของเขาก็คือ ลงทุนแต่ใน “หุ้นที่ดีเยี่ยม” ในแง่ของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท และที่จริงก็เป็นคนที่โน้มน้าวให้บัฟเฟตต์เปลี่ยนแนวทางการลงทุนที่เป็นแบบ VI ของเบน เกรแฮมที่เน้นหุ้นถูกมาก มาเป็นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ที่เน้นบริษัทที่ดีเยี่ยม ในราคาที่ยุติธรรม เช่นหุ้นของ “ซีแคนดี้” บริษัทช็อกโกแล็ตยอดนิยมในแคลิฟอร์เนีย เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ก็ยังอยู่ในพอร์ตของเบิร์กไชร์และบัฟเฟตต์ยังพูดถึงบ่อย ๆ จนทุกวันนี้


คำคมของชาลี มังเกอร์ที่เข้าใจว่าเพิ่งจะพูดไม่นาน แต่ก็น่าจะเป็นหลักคิดของเขามาหลายสิบปีแล้วและผมก็ขอลอกจากเวบไซ้ต์ “คลับ VI” ก็คือ “เขา (เบน เกรแฮม) ทำเงินได้หลายต่อหลายล้านเหรียญจากการลงทุนเน้นมูลค่า ในบริษัทห่วย ๆ ซึ่งราคาถูกมาก ๆ .. แต่การเฝ้ามองบริษัทห่วย ๆ ที่คุณไม่ชอบ มันไม่น่าอภิรมย์เอาซะเลย .. สู้มองบริษัทที่คุณชื่นชมประสบความสำเร็จขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หรอก มันสนุกกว่ากันตั้งเยอะเมื่อเทียบกับการมองคนทุเรศ ๆ บริหารบริษัทราคาถูก ๆ แบบ ผิด ๆ ถูก ๆ”


หลักคิดที่สี่ เป็นของ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็น “Wisdom of the Mass” หรือเป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ในการเลือกบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุน พวกเขาเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นหรือหุ้นอะไรเลย แต่เป็นคนที่ทำงานหรือซื้อสินค้าและบริการที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นคนที่มีข้อมูลที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์หรือประเมินว่าหุ้นตัวไหนกำลังดีหรือแย่


พวกเขาอาจจะเป็นเด็กที่กำลังเห่อรองเท้าคู่ใหม่ของไนกี้ หรือเป็นผู้หญิงที่อาจจะเป็นภรรยาเราที่มาคุยว่าชอบเสื้อผ้าหรือเครื่องสำอางของยี่ห้อไหน หรือเป็นเพื่อนร่วมงานที่กำลังนิยมกินอาหารภัตตาคารใหม่ที่กำลังเติบโตกระจายไปทั่วประเทศ เป็นต้น คำคมของเขาสั้น ๆ ก็คือ “ถ้าคุณเป็นคนขับรถบรรทุก คุณก็มีความได้เปรียบในฐานะนักลงทุนที่สุดแล้ว” เพราะคุณจะรู้ว่าสินค้าอะไรที่ขายดีที่สุด


หลักคิดที่ห้า เป็นของ เรย์ ดาลิโอ “นักลงทุนจอมหลักการ” ตามชื่อหนังสือที่เขาเขียนเรื่อง “Principles” หลักคิดของเขาก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนตั้งอยู่บนหลักการที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม มันจะเคลื่อนไหวเป็นคลื่นระยะยาวที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตัวอย่างเช่น ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวของเงินตราของประเทศผู้นำของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะทำนายว่าสหรัฐอเมริกากำลังเสื่อมลงและประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนจะมีบทบาทมากขึ้น


เขาพูดว่าระเบียบของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการที่อเมริกาเป็นผู้กำหนดจะกลายเป็นโลกที่อเมริกาก็เป็นแค่ผู้เล่นหนึ่ง ดังนั้น การหาหุ้นลงทุนนั้นก็จะต้องมองไปในภาพใหญ่และต้องดูว่าที่ไหนหรือประเทศไหนจะเป็นแหล่งลงทุนที่ดีในอนาคต


ส่วนตัวผมเองนั้น ไม่ได้เชื่อตามการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของ เรย์ ดาลิโอ แต่ก็คิดแบบเดียวกันในเรื่องของความจำเป็นที่จะต้อง “อยู่ในตลาดหรือที่ที่ถูกต้อง” ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งในช่วงอาจจะ 10 ปีนี้ ของผมก็คือเวียตนาม แต่ของเขาอาจจะเป็นจีน


หลักคิดในการลงทุนของเซียนนักเลือกหุ้นทั้ง 5 คน นี้ ครอบคลุมหลักการใหญ่ ๆ ของแทบทุกสไตล์การลงทุนหลัก ๆ ของโลกในทางปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่แนวทาง VI ก็คือ แนวของ วอเร็น บัฟเฟตต์-ชาลี มังเกอร์ ซึ่งผมคิดว่าเราควรจะเรียกเป็นคู่แบบนี้ เหตุผลเพราะว่าความคิดของการลงทุนแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น เป็นความคิดเริ่มต้นโดยมังเกอร์ที่บัฟเฟตต์ยอมรับและนำมาใช้และกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเบิร์กไชร์ ไม่ใช่ของบัฟเฟตต์คนเดียว


หลักการลงทุนแบบ “เก็งกำไร” ที่ “มีหลักการ” และไม่ได้เป็นแค่การสุ่มเสี่ยงและขึ้นอยู่กับสถานการณ์แบบจอร์จ โซรอส นั้น ผมคิดว่าเป็นแนวทางให้กับ “นักเก็งกำไร” ที่หวังจะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ และอาจจะไม่ได้เสี่ยงมากอย่างที่นักลงทุนอื่นเข้าใจ เหนือสิ่งอื่นใด โซรอสไม่ได้ “เล่นทุกวัน” และ “เล่นน้อย ๆ” อย่างที่นักลงทุนแบบ “แมงเม่า” ทำ เขาเลือกเล่นและ “กินคำโต” ที่มั่นใจมาก เพราะวิเคราะห์มาแล้วอย่างดี


ปีเตอร์ ลินช์ นั้น เหมาะกับ VI ที่เน้นแนวเทรดหุ้นที่มีความขยันหาข้อมูลและหวังได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พวกเขาลงทุนในหุ้นหลาย ๆ ตัวมากซึ่งเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงโดยที่ผลตอบแทนสูงกว่ามาตรฐานหรือดัชนีได้


สุดท้ายคือ เรย์ ดาลิโอ ที่มองภาพใหญ่และความจริงของชีวิตและประเทศที่จะดำเนินไป ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ติดกับอยู่ในภาพเล็กที่เราอาจจะคุ้นเคยและ “ไม่ตั้งคำถาม” จนถึงเวลาที่มันสายเกินไปก่อนที่จะทำอะไร


นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor (VI) 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง