M หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ถือเป็นอีกหนึ่งหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อาจจะด้วยเนื่องจากเป็นร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ ทำธุรกิจมายาวนานจนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนอยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหุ้น M
แต่ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น M ร่วงไปแล้วกว่า -25% มาจากผลประกอบการที่ลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของโควิด และการปิดประเทศทำให้ผลประกอบการตกต่ำ
แต่หลังจากโควิดผ่านพ้นไป ผลประกอบการก็กลับมาและเริ่มดูดีขึ้นเรื่อยๆ
จนล่าสุดมีแนวโน้มว่า รายได้ของ M อาจจะกลับมาแตะระดับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงระดับก่อนเกิดโควิด ได้เร็วกว่าที่คิด ...
ถ้าเราดูผลประกอบการของ M พบว่า
ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 17.87 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.60 พันล้านบาท
ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 13.65 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 907.37 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 11.36 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 130.98 ล้านบาท
ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 15.93 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.43 พันล้านบาท
และปี 2566 ไตรมาส 1 บริษัทมีรายได้ 4.14 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 325.30 ล้านบาท
ซึ่งฝ่ายวิจัย มองว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 มีแนวโน้มในทางที่ดี และจะรายงานกำไรปกติ 441 ล้านบาท
เติบโต +2.4% YoY และ +41.3% QoQ
พูดง่ายๆ คือ เป็นการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และคิดเป็นประมาณการราวๆ 51.8% ของทั้งปี 2566
ไม่เพียงแค่นั้น ยอดขายต่อสาขาของร้านอาหารในเครือ M ก็เติบโตขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น
... MK Restaurant ยอดขายต่อสาขาเติบโต 11%
... ยาโยอิ ยอดขายต่อสาขาเติบโต 8%
... แหลมเจริญซีฟู๊ด ยอดขายต่อสาขา เติบโต 16%
อีกทั้งจะได้รับอานิสงค์จากปัจจัยฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดยาวที่เพิ่มขึ้น และยอดใช้จ่ายในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้ยอดขายเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย 50%
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อ M ทั้งสิ้น
แต่ถ้าเราไปดูราคาหุ้นที่ร่วงลงมา กลับไม่เป็นอย่างที่บทวิเคราะห์มอง
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
- ทำตัวอย่างไร เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงหนัก
- สรุปปัจจัยบวก ICHI เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นชาเขียว +31% ภายใน 7 เดือน
- สรุปประเด็น BCP เราอาจจะมองอนาคตที่ดีของ BCP ไกลเกินไป
สาเหตุเป็นเพราะว่า M ยังมีปัจจัยที่นักลงทุนยังคงกังวลอยู่
โดยบทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกร มองว่า ปริมาณลูกค้าที่นั่งในร้านอาหารของ M ไม่เหมือนเดิม จากปัจจัย 3 ข้อด้วยกัน คือ
1. การปรับขึ้นราคาขายประมาณ 10%
การปรับขึ้นราคาขายประมาณ 10% เท่ากับว่าปริมาณการนั่งรับประทานในร้านลดลง 10% โดยประมาณ
2. การแข่งขันที่รุนแรง
M ต้องสูญเสียกลุ่มลูกค้าบางส่วนให้กับร้านอาหารแบรนด์อื่น
การแข่งขันในอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรง และแต่ละแบรนด์ก็มีวิธีเรียกลูกค้าแตกต่างกันออกไป โดยใจกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่า
3. ต้นทุนอาหารของ M สูงกว่าของที่อื่น
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาหมูจะตกต่ำ แต่เนื่องจากว่า M มีสัญญาซื้อขายหมูระยะยาว ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากราคาหมูที่ลดลง
อีกทั้งราคาเป็ดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นตัวผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นของ M มีแนวโน้มลดลง
สุดท้าย บทวิเคราะห์มองว่า ราคาหุ้นของ M ค่อนข้างแพง และปัจจัยแวดล้อมต่างๆก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนอาหารและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณการรับประทานอาหารในร้านที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด
... อนึ่ง หุ้น M ซื้อขายที่ P/E Ratio ราวๆ 27.5 เท่า จากค่าเฉลี่ยในอดีต 25.8 เท่า
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกร