ถือเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวที่ร้อนแรงอย่างมาก จนตลาดต้องออกมาเตือนให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ DELTA
จากการติดตามสภาพการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าหลักทรัพย์ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ 2 มีนาคม 2566 ราคามาปิดที่ระดับสูงสุด (All Time New High) ที่ 1,000 บาท (ระหว่างวันราคาเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 1,016 บาท) มูลค่าซื้อขาย 4,438 ล้านบาท ด้วยค่า P/E ที่ 81.29 เท่า และ P/BV ที่ 22.81 เท่า ตามลำดับ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน ความเสี่ยง และสารสนเทศที่ DELTA เปิดเผยผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขาย เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงได้หากราคาผันผวน
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
หุ้น DELTA ทะลุ 1,000 บาท ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1.26 ล้านล้านบาท สูงกว่าบริษัทแม่ที่ไต้หวันเกือบ 50%
ถามว่า มีประเด็นอะไรที่ทำให้ DELTA พื้นฐานเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่ ?
คำตอบ คือ มี แต่อาจจะยังไม่เพียงพอให้ DELTA พื้นฐานเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวในงานเปิดตัวสำนักงานใหม่ในกรุงเทพฯ ว่า แนวโน้มการเติบโตรายได้ของปี 2566 จะเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก (Double Digit) หรือกว่า 10% ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากธุรกิจรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เพราะความกังวลวิกฤตพลังงาน รวมถึงแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นตัวช่วยผลักดันธุรกิจ EV ดังกล่าว
ส่วนงบการลงทุนในปีนี้ บริษัทประเมินไว้ที่ 180-200 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิต เช่น การขยายกำลังการผลิตในไทย ซึ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมปีนี้ จะสามารถเปิดโรงงานแห่งใหม่ (โรงงานที่ 8) หลังจากที่ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจในประเทศอินเดีย คาดว่าจะเปิดให้บริการโรงงานอีก 2 แห่งในปีนี้เช่นกัน ขณะที่การลงทุนในประเทศฮังการีนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง แต่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568-2569 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ EV
- เจาะประเด็น Delta ทำธุรกิจอะไร ก่อนจะมีวันนี้
- หุ้น DELTA กำลังจะมีอิทธิพลต่อ SET50 มากกว่าเดิม
- ทำไม ตลาดถึงมองว่า Delta แพงเกินไป ?
- Valuation ของหุ้น DELTA ควรอยู่ที่เท่าไร ?
ผู้บริหารยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีของการแตกพาร์จาก 1 บาทต่อหุ้น เป็น 0.10 บาทต่อหุ้นนั้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายหุ้น และช่วยทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าลงทุนในหุ้น DELTA ได้มากขึ้น โดยบริษัทจะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 เมษายนนี้ และหากได้รับอนุมัติจะแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ คาดใช้ระยะเวลาดำเนินการ 14 วัน และดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยใช้เวลาดำเนินการอีก 3 วัน พร้อมคาดว่ากระบวนการแตกพาร์จะสำเร็จและเริ่มซื้อขายได้ภายในเดือนเมษายน 2566
ก็ถือว่าเป็นอีกหุ้นที่ผู้ลงทุนต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังทุกครั้ง ครับ ...