#มือใหม่เริ่มลงทุน

สรุปประเด็น NVDR ให้เข้าใจง่ายๆ แบบตอนเดียวจบ

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
3,648 views

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ทางตลาดหลักทรัพย์มีการปรับกฏเกณฑ์ใหม่ในเรื่องของ NVDR 
ทำให้ผู้ลงทุนไทยหลายคนยังมีข้อสงสัยอยู่มากเกี่ยวกับเรื่องของ NVDR 
วันนี้ จะมาสรุปแบบเข้าใจง่ายๆให้ฟังกันครับ

NVDR ย่อมาจาก Non-Voting Depository Receipt ภาษาไทยคือ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเเราซื้อ NVDR ของหุ้นตัวหนึ่งไป เราจะมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากหุ้นตัวที่ซื้อไปเหมือนกับการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทุกประการ เช่น การได้รับเงินปันผล, กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) และสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน

การซื้อขาย NVDR ทำได้เหมือนหุ้นทั่วไป คือ ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ และซื้อที่ราคาเท่ากับราคาตลาด
สิ่งที่แตกต่างของสิทธิของ NVDR กับสิทธิของผู้ถือหุ้นทั่วไปคือ ผู้ถือ NVDR ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนใดๆในการประชุมผู้ถือหุ้น
ก็เป็นไปตามชื่อที่บอกว่า “Non-voting” Depository Receipt

NVDR มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะโดยทั่วไปถ้าชาวต่างชาติซื้อขายบนกระดานทั่วไป (Local Share) จะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล2 ดังนั้นจึงมีทางเลือกให้ซื้อขายผ่านกระดานต่างประเทศ (Foreign) หรือใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) แทน
แต่การลงทุนของคนต่างชาติก็มีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอยู่ ได้แก่ นักลงทุนต่างชาติจะมีลิมิตในการถือครองหุ้นตัวหนึ่งๆอยู่
เช่น ในกรณีหุ้นทั่วไปชาวต่างชาติทั้งหมดต้องถือหุ้นไม่เกิน 49%
หรือหุ้นกลุ่มกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ถือได้ไม่เกิน 25%


ประเด็นคือ NVDR คือช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้
แต่นักลงทุนไทย ก็ใช้ช่องทาง NVDR ในการทำสิ่งที่ผิดกับหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ด้วยเหมือนกัน เช่น 
- ใช้เครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์การรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์
- ใช้เป็นช่องทางปกปิดข้อมูลการถือหุ้น ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในตลาดทุน 
ส่งผลให้ทางตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการปรับกฏเกณฑ์ใหม่ 
โดยระบุว่า ผู้มีสัญชาติไทย ห้ามซื้อ NVDR, ห้ามรับโอน NVDR และห้ามแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็น NVDR
ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2567 เป็นต้นไป

คำถาม คือ ถ้าเรามี NVDR อยู่แล้ว แล้วยังไงต่อ ? 
ผู้ลงทุนที่มี NVDR อยู่แล้ว จะมี 3 วิธีต่อไปนี้ด้วยกัน คือ 
1. ถือต่อ
2. แปลงเป็นหุ้นสามัญ
3. ขาย 
ซึ่งผู้ลงทุนจะไม่สามารถ "ซื้อเพิ่ม" หรือใช้วิธีการใดๆที่จะมี NVDR เพิ่มได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับโอนมรดก
สำหรับการแปลงเป็นหุ้นสามัญ ผู้ลงทุนสามารถแจ้งบริษัทหลักทรัพย์ ที่เราเป็นลูกค้าเพื่อให้ดำเนินการแปลงหลักทรัพย์ได้ทันที

 

 

คำถามต่อมา คือ แล้วถ้าเราอยากจะซื้อเพิ่ม ซื้อได้อีกไหมหลังจากวันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป
คำตอบ คือ ซื้อไม่ได้แล้วครับ ...
หากผู้ลงทุนซื้อ NVDR หลังวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ทางบริษัทหลักทรัพย์จะแปลงสภาพหุ้น ให้เป็นหุ้นปกติภายในสิ้นวันทำการ

สรุปคือ ถ้าเรามี NVDR ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2567 เราจะสามารถเลือกที่จะถือต่อ แปลงเป็นหุ้นสามัญ หรือขายได้เลย
ซึ่งการจะแปลงเป็นหุ้นสามัญ เราจำเป็นจะต้องติดต่อบริษัทหลักทรัพย์
แต่หลังจากวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป เราจะไม่สามารถทำการซื้อ NVDR ได้อีกต่อไปแล้ว
หรือถ้าเรามีการคีย์ออเดอร์เป็น NVDR เมื่อสิ้นวัน ทางบริษัทหลักทรัพย์ก็จะแปลงสภาพหุ้น ให้เป็นหุ้นปกติโดยอัตโนมัติ นั่นเอง


สุดท้าย ผู้ลงทุนอาจจะสงสัยระหว่าง NVDR และ DR ว่าแตกต่างกันตรงไหน เพราะดูจากตัวย่อแล้วมีความใกล้เคียงกัน
คำตอบ คือ ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย
NVDR เป็นสิ่งที่อธิบายไปข้างต้น คือ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยผ่าน NVDR 
ในขณะที่ DR คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะอ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศโดยตรง

------------------------------------------------------------------------------
Reference
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง