#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

กองทุนน้ำมัน คืออะไร ? ทำไมถึงขาดทุนหนักถึง 9.8 หมื่นล้านบาท

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
712 views

เชื่อว่านักลงทุนจะได้ยินข่าวมาบ้างว่า "กองทุนน้ำมัน" ติดลบแล้ว 9.8 หมื่นล้าน ..
โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันแพง เราก็มักจะได้ยินอยู่เสมอเกี่ยวกับข่าวเรื่องของ "กองทุนน้ำมัน"

 

กองทุนน้ำมัน คืออะไร 
บางคนอาจจะรู้ว่า กองทุนน้ำมันมีไว้เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้แพง 
คำถาม คือ กองทุนนี้ประสบความสำเร็จกับการพยุงราคาน้ำมันมากแค่ไหน
และที่สำคัญที่สุด คือ กองทุนน้ำมัน นำเงินมาจากไหน 
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันครับ

กองทุนน้ำมันมีการก่อต้ังขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2516 โดยชื่อเดิม คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีไว้เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเรื่องของความมั่นคงทางพลังงานของไทย
อีกทั้งยังเป็นเรื่องของการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย ให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แกว่งตัวผันผวนมากนักในแต่ละวัน
แน่นอนว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ภายใต้การดูแลของ "กระทรวงพลังงาน"

และจุดประสงค์ของกองทุนน้ำมัน คือ ต้องการตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นหลัก
ด้วยเหตุที่น้ำมันดีเซลถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม ใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน 
ถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่ม จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงแค่นั้น น้ำมันดีเซล ยังเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับภาคขนส่ง รถบรรทุกสินค้า รถขนส่งสาธารณะ
ถ้าราคาน้ำมันดีเซลเพิ่ม จะมีผลให้ต้นทุนสินค้าและการเดินทางเพิ่มขึ้น
พูดง่ายๆ คือ ถ้าน้ำมันดีเซลแพง จะทำให้ข้าวของแพงขึ้น ประชาชนต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการที่แพงขึ้น เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
และส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนจากข้าวของที่แพงขึ้นตามไปด้วย

และเป้าหมายของการตรึงราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 30 บาท ...
เราลองนึกภาพตามดูว่า ถ้าราคาน้ำมันโลกขึ้นสูง (แพงขึ้น) 
ราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศ ก็ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงน้ำมันดีเซลด้วย
แต่รัฐบาลก็จะใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน มาจ่ายชดเชยราคาบางส่วน ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลจะอยู่ที่ 30 บาท 
พูดง่ายๆ คือ ประชาชนจะไม่ต้องจ่ายแพงตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าทุกๆการเติมน้ำมันแต่ละครั้ง กองทุนนี้จะช่วยจ่ายให้กับประชาชน ทำให้รายจ่ายหลักของกองทุน คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น นั่นเอง

 

ในขณะเดียวกัน ถ้าราคาน้ำมันโลกปรับลดลง (ถูกลง)
ราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศ ก็จะต้องลดลงตาม 
แต่ในความเป็นจริง ราคาค้าปลีกดีเซลในประเทศจะไม่ลดลงและต้องขายที่ราคาเดิม
เพราะส่วนต่างที่เกินมา ถือเป็นการนำเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อใช้ในยามที่ราคาน้ำมันแพงอีกครั้ง

แต่ไม่ใช่แค่ส่วนต่างที่เกินมา ถือเป็นรายรับของกองทุนอย่างเดียว
กองทุนน้ำมันยังมีรายรับเพิ่มเติมซึ่งมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ 
1. จากส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
2. จากส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมัน
3. จากส่วนของผู้ค้าน้ำมันและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ที่ต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

 

คำถาม คือ กองทุนน้ำมันอุ้มแต่ราคาน้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียว ใช่ไหม ? 
คำตอบ คือ ไม่ใช่ 
เพราะกองทุนยังมีการชดเชยให้กับ แก๊ส LPG อีกด้วย เนื่องจาก LPG ถูกใช้กันมากในภาคครัวเรือน ร้านอาหาร ภาคอุตสาหกรรม และรถยนต์ส่วนบุคคล
ว่ากันว่า กองทุนน้ำมันต้องจ่ายชดเชนให้กับ LPG มากถึง 19.84 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

 

อ่านดูแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่เหรอ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงพลังงาน ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกเวลาเจอกับน้ำมันแพง
เพราะกองทุนก็จะช่วยอุ้มไม่ให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น
ประโยคดังกล่าวข้างต้น ถือว่าถูก แต่ถูกเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า การที่ราคาน้ำมันยิ่งแพงนานเท่าไร ยืนระยะยาวนานมากพอ กองทุนน้ำมันก็ต้องจ่ายส่วนต่างชดเชยมากเท่านั้น 
จนกระทั่งกองทุนขาดทุนจำนวนมาก
รัฐบาลก็จะต้องอุ้มอยู่ต่อไป เพื่อตรึงราคาน้ำมันค้าปลีกไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมัน 
หรือแม้แต่การกู้เงินมาให้กองทุนน้ำมันใช้อุดหนุนราคาน้ำมัน ต่อไป
จนตอนนี้ กองทุนน้ำมันติดลบแล้ว 9.8 หมื่นล้านบาท
และถ้าราคาน้ำมันยังแพงอยู่ต่อไป กองทุนน้ำมันก็จะต้องจ่ายมากขึ้น สุดท้ายก็จะช่วยไม่ไหวปล่อยให้กองทุนล้มละลาย
สุดท้ายราคาน้ำมันก็จะแพงขึ้นตามอยู่ดี

 

หรือถ้าภาครัฐมองว่าอุ้มไม่ไหวแล้ว ก็ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลไปเลย
เท่ากับว่าราคาสินค้าและบริการก็จะแพงขึ้น เพราะดีเซลถือเป็นต้นทุนหลักของการทำธูรกิจ 
เมื่อข้าวของแพงขึ้น ประชาชนก็จะต้องจ่ายเงินที่มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่า พอจะมีทางแก้ปัญหาให้กับกองทุนน้ำมัน ได้บ้างไหม ? 
มีหลายหน่วยงานเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนน้ำมันไว้ได้น่าสนใจ เช่น 
1. การปล่อยลอยตัวราคาดีเซล
เพื่อลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน 
หรือถ้าจะช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ต้องเลือกที่จะช่วยเหลือคนบางกลุ่ม 
พูดง่ายๆ คือ ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น 
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า กองทุนน้ำมันมีไว้เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้สูง
ทำให้ภาคขนส่ง และรถสาธารณะได้ประโยชน์
แต่ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันดีเซลที่มีอยู่จำนวนมาก

 

2. การเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจาก 30 บาท เป็น 32 บาท
การที่ราคาน้ำมันแพงยืนระยะอย่างยาวนาน ภาครัฐอาจจะต้องมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น
จากเดิมที่ราคา 30 บาท เป็น 32 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ก็อาจจะเป็นการ "บรรเทา" ให้กองทุนน้ำมันขาดทุนช้าลงก็เป็นไปได้

 

สิ่งสำคัญ คือ ประเด็นกองทุนน้ำมัน ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
เพราะราคาน้ำมัน จะส่งผลต่อกลุ่มพลังงาน 
ซึ่งมีผลมากกับตลาดหุ้นไทยที่มีสัดส่วนหุ้นพลังงานอยู่สูงมาก ....

------------------------------------------------------------------------------
Reference
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

Post Today


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง