เมื่อวานที่ผ่านมาถือเป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ ขยายเวลาซื้อขายหลักทรัพย์
โดยจะเปิดการซื้อขายช่วงบ่ายเพิ่มขึ้น 30 นาที จากเดิม 14.30-16.30 น. เป็น 14.00-16.30 น.
ผลปรากฏว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"
โดยเมื่อวานมีปริมาณการซื้อขาย 4.1 หมื่นล้านบาท
ซึ่งถือว่าเกาะกับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่มีปริมาณการซื้อขายราวๆ 4.4 หมื่นล้านบาทต่อวัน
แบ่งออกเป็น
- นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 1.05 พันล้านบาท ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวม 7.02 หมื่นล้านบาท
- นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 2.9 พันล้านบาท ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวม 5.17 พันล้านบาท
- โบรกเกอร์ ซื้อสุทธิ 504 ล้านบาท ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวม 1.89 พันล้านบาท
- มีเพียงแค่นักลงทุนในประเทศที่ยังซื้อสุทธิ 2.84 พันล้านบาท และยอดซื้อสุทธิรวมตั้งแต่ต้นปี 7.78 หมื่นล้านบาท
ไม่เพียงแค่นั้น ถ้าเราดูสถิติย้อนหลัง จะพบว่าปริมาณซื้อขายหุ้นไทย "ลดลงเรื่อยๆ" ตั้งแต่ปี 2564
ปี 2564 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 8.84 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ปี 2565 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 7.12 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ปี 2566 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 5.10 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 4.45 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ซึ่งในปี 2567 ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 13%
และลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564
ตัวเลขดังกล่าว เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะ "ขาดความเชื่อมั่น" เป็นอย่างมาก
ดังนั้นการเพิ่มเวลาซื้อขาย อาจจะไม่ตรงจุดที่จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของเพิ่มปริมาณซื้อขายมากสักเท่าไรนัก
สอดคล้องกับมุมมองนักวิเคราะห์ที่มองตรงกันว่า การเพิ่มปริมาณซื้อขายน่าจะไม่ช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก ...
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน มีมุมมองว่าระยะเวลาการซื้อขายไม่ได้มีผลต่อนักลงทุนรายย่อย แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ นักลงทุนจะสามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทยได้ดีขึ้น เช่น การลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) จากระยะเวลาซื้อขายที่สอดคล้องกับตลาดหุ้นต่างประเทศ
ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่านักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น และยังไม่กล้าคาดหวังกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย จากภาพรวมนโยบายการเงินยังมีความเสี่ยง ซึ่งกระทบจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยที่สูง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว และมีโอกาสที่กระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลออก
- วันแรกของการขยายเวลาซื้อขายหุ้นไทย นักลงทุนคาดหวังอะไรจากมาตรการนี้ ?
- ย้อนรอยปัญหา ITD เข้าขั้นวิกฤต ที่กำลังสะเทือนกลุ่มแบงก์ของไทย
- ทำไมการคงดอกเบี้ยของ FED ถึงทำให้นักลงทุนซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ?
คำถาม คือ แล้วจะทำอย่างไร ให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับมามีปริมาณซื้อขายที่สูงขึ้นได้อีกครั้ง
คำตอบ จะต้องประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ
1. การเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด
โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะกลาง-ยาว
2. นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ที่กดดันภาพรวมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา
โดยมองว่าหากมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจะมีโอกาสไหลกลับเข้ามามากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะมีคำถามว่า ?
ต้องมีปริมาณซื้อขายมากเท่าไร ที่จะเพียงพอให้นักลงทุนกลับมาสนใจและภาพรวมตลาดคึกคักอีกครั้ง
คำตอบ คือ ต้องมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
จึงจะมีโอกาสทำให้หุ้นไทยกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง
เมื่อหุ้นไทยคึกคัก ก็จะส่งผลให้หุ้น และ Sector กลุ่มหุ้นต่างๆ กลับมา Outperform ตลาดได้อีกครั้ง
แต่ก่อนจะไปถึง 5 หมื่นล้านบาท เราอาจจะต้องมีมาตรการอะไรที่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว การจะคาดหวังให้ปริมาณซื้อขายกลับมา 5 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องที่ยาก
และการเพิ่มเวลาในการซื้อขาย ก็ไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณซื้อขายมากขึ้น
ตราบใดที่นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยอยู่แบบนี้
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส