#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังโตต่ำ และอาจจะโตไม่ถึง 3%

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
10,801 views

ถือว่าผิดความคาดหวังไปพอสมควรสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ที่คาดกันว่าน่าจะโตได้มากกว่า 3% 
แต่ดูเหมือนว่าความคาดหวังนี้จะไม่เป็นจริง เพราะศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ 2 แห่ง พร้อมใจกันลดการเติบโต GDP ของไทยลงไม่ถึง 3% เป็นที่เรียบร้อย
และมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า นี้ครัวเรือนสูง การส่งออกลด 
และประเทศไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 
ซึ่ง 2 ศูนย์วิจัยที่กล่างถึง คือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)
และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC
ทั้ง 2 แห่ง มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง
แล้วทำไมมองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำ และอาจจะโตไม่ถึง 3% อยากจะเล่าให้ฟังแบบสรุป อย่างนี้ครับ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ
หนี้ครัวเรือนสูง การผลิตหดตัว คือปัจจัยสำคัญ

1. เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกันกับปี 2566
พูดง่ายๆ คือ การค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี และแนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อยๆ ปรับลดลง
ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย

2. ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2567

3. เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง ปี 2567 เศรษฐกิจไทยโต 2.8% (จากเดิม 3.1%)

4. สาเหตุสำคัญ คือ อุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง 
รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง 
และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

5. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าดอกเบี้ยไทยจุดสูงสุดน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นช่วงเริ่มต้นของการลดดอกเบี้ย
โดยปีนี้ มองว่าจะลดประมาณ 2 ครั้ง ทำให้การประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีอยู่ที่ระดับ 0.8%

6. ประเทศไทยต้องเร่งหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เช่น ศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Center หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม 
เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิง Green Economy เข้ามาเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

 


SCB EIC เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า การผลิตยังอยู่ในระบบเก่า
คาดหวังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567

1. มองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ พร้อมปรับเป้าการเติบโตของประเทศใหม่ เป็น 2.7% (จากเดิม 3%)

2. ปัญหาที่คอยกดดันอยู่ คือ โครงสร้างในภาคการผลิตไทย 
โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 
จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้า

3. เงินเฟ้อไทยติดลบติดต่อกันมาหลายเดือน
SCB EIC ประเมินว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด 
โดยเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก น่าจะในเดือนพฤษภาคม

4. ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ดึงให้เงินเฟ้อสูงขึ้น
เกิดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ค่าขนส่งแพงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
น่าจะทำให้สินค้าเกษตร มีราคาที่สูงขึ้นขึ้นตามไปด้วย

5. SCB EIC มองว่า กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยจาก 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในปีนี้

6. มองไปในอนาคต  ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุคเก่า รวมถึงระบบวงโซ่อุปทานก็ยังอยู่ในระบบเก่ามาก
ประกอบกับที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนมากเกินไป
เศรษฐกิจจีนยังมีความน่ากังวล และกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า

7. ค่าเงินบาทในระยะสั้นจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากการลดดอกเบี้ยของ FED และครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน

8. SCB EIC เสนอแนะ การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน 
การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี 
และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น 
เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

 


สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทั้ง 2 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ มองตรงกันว่า
ไทยเป็นประเทศที่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระบบเก่าๆ
เป็นปัจจัยฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยโต
ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ไทยมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ EV และการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Center
ไม่เพียงแค่นั้น ความท้าทายของธุรกิจ Green Economy ก็เป็นสิ่งที่ต้องสนใจมากด้วยเหมือนกัน
ถ้าไม่อย่างนั้น ประเทศไทยก็ยังเติบโตต่ำอยู่ต่อไป 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง