#มือใหม่เริ่มลงทุน

อธิบายการขึ้น/ลดดอกเบี้ย ส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทจดทะเบียนของไทย

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
958 views

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่สูง
เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่สูง เราก็มักจะได้ยินว่ากระทบกับบริษัทจดทะเบียน
แต่เรากลับไม่เข้าใจว่า กระทบอย่างไร ? 
รวมถึงการขึ้น หรือลดดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทจดทะเบียนของไทย

 

เราลองนึกภาพดูว่า ถ้าเรากู้เงินมา 100 บาท และมีอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี 
เท่ากับว่าเราจะมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย 2 บาท
แต่ถ้าอยู่ดีๆ มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยใหม่ เป็น 5% ต่อปี 
เท่ากับว่า เราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 3 บาท รวมเป็นทั้งหมด 5 บาท
พูดง่ายๆ คือ การกู้เงินทุกๆ 100 บาท จะส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายของเราเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท
และเราลองจินตนาการว่า ไม่ใช่การกู้เงินหลักพันบาท หรือหมื่นบาท
แต่เป็นการกู้เงินหลัก "พันล้าน" หรือ "หมื่นล้าน" การขึ้นดอกเบี้ยเพียงไม่มากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนมหาศาลมากแค่ไหน

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 กนง. มีการขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0.5% สู่ระดับปัจจุบันที่ 2.5% 
ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารให้ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 
ไม่เพียงแต่เงินกู้ธนาคารเท่านั้น แต่ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นกู้ ก็ต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพื่อจูงใจให้นักลงทุนนำเงินมาปล่อยกู้
จึงเกิดเป็นปัญหาหลายๆบริษัทไม่สามารถชำระหนี้เงินคืนหุ้นกู้ได้เหมือนอย่างที่เป็นข่าวหลายบริษัท

 

ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้น ส่งผลต่อภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 
อ้างอิงจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า ได้บอกไว้ว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของบริษัทจดทะเบียน เพิ่มขึ้นถึง 77% 
จาก 9.9 หมื่นล้านบาท ใน 1Q64 มาเป็น 1.75 แสนล้านบาทใน 3Q66 
ซึ่งดอกเบี้ยจ่ายที่สูงมากขนาดนั้น ได้กดดดันผลประกอบการของ SET Index โดยรวมลดลง 12% 
หรือกระทบราวๆ 1.2 แสนล้านบาท 
ซึ่งกำไรที่ลดลง น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ในช่วงที่ผ่านมา

 

ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลในอดีตได้บ่งบอกเราถึง 2 ข้อหลักๆด้วยกันคือ
1. อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของบริษัทจดทะเบียนไทย "ลดลง"
2. อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก
พูดง่ายๆ คือ ถ้าอัตราดอกเบี้่ยนโยบายคงที่ แต่ดอกเบี้ยหุ้นกู้อาจจะมีการปรับขึ้นได้อีก ตามการ Rollover

 

อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วปี 2567 จะเป็นอย่างไร ? 
คำตอบ คือ แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในขาลง
ปี 2567 หลายสื่อวิเคราะห์ตรงกันว่าดอกเบี้ยทั่วโลกจะถูกปรับลดลง เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐ
แต่สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนว่าท่าที่ของแบงก์ชาติจะมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ทำให้เกิดคาดการว่าอาจจะไม่มีการลดดอกเบี้ยในประเทศไทย หรืออาจจะมี แต่ลดได้น้อยกว่าดอกเบี้ยโลก
น่าจะทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยไม่ได้รับอานิสงค์จากการลดดอกเบี้ยสักเท่าไรนัก

แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ นักลงทุนควรจะวางแผนหรือมีมุมมองต่อประเด็นดอกเบี้ยอย่างไร ? 
อ้างอิงจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า สรุปไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
บริษัทที่มีหนี้สินน้อย จะมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยน้อที่สุด
ตัวอย่างหุ้น เช่น BH PR9 INTUCH TTW หรือแม้กระทั่ง SABINA

ส่วนบริษัทที่มีหนี้สินมาก จะมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากที่สุด
ตัวอย่างหุ้น เช่น SABUY JKN INET เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธีมของดอกเบี้ยน่าจะเป็นการปรับลดมากกว่า
และการปรับลดดอกเบี้ย น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นที่จ่ายหนี้สินค่อนข้างมาก ให้กลับมา Turnaround ได้จากฐานที่ต่ำ

 

ธีมของการลดดอกเบี้ย จึงเป็นธีมที่น่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ด้วยเหมือนกัน
แต่ความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง คือ เรื่องของดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ได้คาดคิดเอาไว้
เพราะความเห็นได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 
ปีนี้เราอาจจะเห็นการลดดอกเบี้ย แต่เป็นการลดดอกเบี้ยที่น้อย 
ถ้าออกมาในกรณีก็จะกระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หรือถ้าแบงก์ชาติจะยังคงดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไป
เท่ากับว่า บริษัทจดทะเบียนก็ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงต่อไป กระทบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน
และอาจจะส่งผลมายังตลาดหุ้นไทยให้ Underperform เหมือนในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง