เชื่อว่าเวลาเราแวะสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
หรือแม้แต่การไปท่องเที่ยวจังหวัดโคราช สิ่งที่เรามักจะพบเห็น คือ ของฝากที่มีชื่อเสียงอย่างข้าวตัง หมูหยอง หมูแผ่น แบรนด์ "เจ้าสัว"
ทำให้อดสงสัยไม่ได้เลยว่า จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้มาได้อย่างไร
และทำไมอยู่ดีๆถึงกลายมาเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงได้
ที่สำคัญ คือ ถ้าเราอยากจะลงทุนธุรกิจลักษณะนี้บ้าง จะต้องเริ่มอย่างไร ?
อยากจะเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ
จุดเริ่มต้นของ "เจ้าสัว" มาจากร้านขายของแห่งหนึ่งในจังหวัดโคราช ที่ชื่อว่า "เตีย หงี่ เฮียง"
ก่อต้ังโดย นายเพิ่ม โมรินทร์ (แซ่เตีย) ซึ่งย้ายภูมิลำเนาจากย่านคลองเตย กทม. มาตั้งรกรากอยู่ที่โคราช เพราะเล็งเห็นว่าต่อไปในอนาคต โคราช จะกลายมาเป็นประตูสู่ภาคอีสานที่จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่านี้
ในสมัยนั้น ชาวบ้านโคราชนิยมเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก นายเพิ่มจึงมีความคิดอยากจะแปรรูปเนื้อหมู มาเป็นหมูหยอง หมูแผ่น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะมองเป็นโอกาสทางการค้าขาย
ทางร้านจึงเริ่มผลิตกุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ส่งขายไปยังตลาดที่โคราช และกทม. ก่อนซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ในปี 2516 ทางร้านเริ่มพัฒนาร้านขายของมาเป็น ร้านจำหน่ายของฝาก และจดทะเบียนการค้าเป็น
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เตีย หงี่ เฮียง" โดยเริ่มกระจายสินค้าออกสู่ร้านค้าตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด นครราชสีมา
ต่อมาไม่นาน จึงเริ่มพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง เช่น สามดาว ขวานคู่
ภายใต้สโลแกน "เตียหงี่เฮียง สุดยอดของฝากจากโคราช รับประทานเองก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ"
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เตีย หงี่ เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ช่วงปี 2541 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย
แต่สำหรับร้านเจ้าสัวแล้ว กลับเติบโตขึ้นสวนกระแส เพราะมีนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา
แล้วได้แวะซื้อข้าวตังหมูหย็องจากร้านเจ้าสัว เพื่อไปเป็นของฝาก
ปรากฏว่านักธุรกิจคนนี้ ประทับใจในรสชาติและความอร่อยของข้าวตังเจ้าสัว
จนต้องติดต่อกลับมาหาคุณเพิ่ม เพื่อขอนำสินค้าไปวางขายที่ฮ่องกง รวมถึงสินค้าประเภทอื่นๆอีกด้วย
ปัจจุบัน บริษัทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) มีแบรนด์สินค้า "เจ้าสัว" และแบรนด์ "โฮลซัม" ช่องทางการจัดจำหน่ายมากมาย ทั้งร้านค้าปลีก ค้าส่งสมัยใหม่ ร้านค้าดั้งเดิม ธุรกิจร้านแฟรนไชส์ ร่วมถือช่องทางออนไลน์ เช่น Lazada, Shopee
ร่วมถึงการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ อีกด้วย ...
ถ้าเราไปดูโครงสร้างรายได้ของเจ้าสัว จะพบว่ามาจาก 2 รายได้หลักใหญ่ๆ คือ
1. รายได้จากธุรกิจขนมขบเคี้ยว สัดส่วน 79%
2. รายได้จากผลิตภัณฑ์อาหาร สัดส่วน 20%
และ 3. รายได้อื่นๆ เช่น ขายข้าวหอมมะลิ สัดส่วน 1%
ผลประกอบการที่ผ่านมา
ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 1.12 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 113.8 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 1.15 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 64.4 ล้านบาท
ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 1.42 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 89.6 ล้านบาท
โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 31%
และอัตรากำไรสุทธิระดับ 13%
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ถ้าเราดูในช่วงปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว
ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 บริษัทมีรายได้ 1.06 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 117.6 ล้านบาท
พูดง่ายๆ คือ ในช่วงเวลาปกติ บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิสูงถึงระดับ 27% ซึ่งถือว่าสูงมาก
- รู้จัก NEO สินค้า Consumer Products เบอร์ 1 ในตลาด FMCG ที่ต้องปรับตัวตลอดเวลา
- สรุป OR จากธุรกิจปั้มน้ำมัน สู่ "พีทีที สเตชั่น" รุก Non-Oil ตามแนวคิด SDG
- KCG ทำอย่างไรให้โตเกือบ 30% ใน 9 เดือน พร้อมแค่ไหน ที่จะโตต่อในไตรมาส 4
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าธุรกิจมีการเติบโต แบรนด์แข็งแกร่งและน่าสนใจ อยากจะร่วมลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย
ถือเป็นข่าวดี เพราะเมื่อไม่นานมานี้ "เจ้าสัว" ได้ยื่นแบบ Filling เข้าเสนอขายหุ้น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น และยังแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
น ส.ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAO เผยว่า กลุ่มบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ภายใต้แบรนด์ "เจ้าสัว" และแบรนด์ "โฮลซัม (Wholesome)" ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมายาวนานกว่า 65 ปี
ภายใต้วิสัยทัศน์ "นำสูตรลับความอร่อยตำรับเจ้าสัวสู่คุณ" เพื่อเติมเต็มความสุขในทุกวัน โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รสชาติอรอ่ย และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยกรรมวิธีการปรุงอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ทำให้อายุอาหารอยู่ได้ยาวนานขึ้น
พร้อมพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความทันสมัย พกพาง่าย สามารถรับประทานได้ทุกวัน (Everyday Consumption) สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในทุกโอกาส
น.ส.ณภัทร กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักเพื่อปรับภาพลักษณ์สินค้าไปสู่แบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน ผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador) ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมและสะท้อนถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มครอบครัว วัยรุ่น คนทำงานและผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ และแผนการสื่อสารการตลาดแบบ 360 องศา ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทได้รับรางวัล Superbrands Thailand ประจำปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่แบรนด์สินค้าที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด นอกจากนี้ เจ้าสัวยังได้รับรางวัล “2023 Thailand's Most Admired Brand” จาก BrandAge โดยเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของหมวดขนมขบเคี้ยวไทย (Thai Snack) ที่น่าเชื่อถือที่สุด
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังได้รับตรา “Thailand Trust Mark” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือ ภายใต้แนวคิด “Trusted Quality” ให้ทั่วโลกไว้วางใจในสินค้าและบริการครอบคลุมทุกมิติ
“เราให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การบริโภคของกลุ่มลูกค้า ผ่านการสร้างความหลากหลายให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งประเภทสินค้า รูปแบบ และรสชาติความอร่อยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากสูตรลับฉบับเจ้าสัว โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์การรับประทานอาหาร ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”
เชื่อว่า หุ้น "CHAO" จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งหุ้น IPO น้องใหม่ ที่น่าจับตาอย่างมากในปี 2567 ที่จะถึงนี้ครับ ...
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) : นักลงทุนสัมพันธ์
ข้อมูล Filling : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์