#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน
#แนวคิดด้านการลงทุน

JKN Vs. STARK วิกฤตราคาหุ้น ในสถานการณ์ที่แตกต่าง

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,374 views

ในช่วงต้นปี 2566 หุ้นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด น่าจะเป็นหุ้น STARK กับเรื่องของการปลอมแปลงบัญชี สร้างยอดขายปลอม จนนำไปสู่การยื่นต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป
ส่งไม้ต่อมายังวิกฤตราคาหุ้น JKN ที่มีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ตั้งแต่วินาทีแรกที่เปิดการซื้อขาย

 

คำถามที่น่าสนใจ คือ วิกฤตหุ้น JKN และ STARK เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ? 
ในส่วนที่เหมือน น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤตศรัทธา 
โดยหุ้น STARK ราคาหุ้นแทบจะหมดมูลค่า
สอดคล้องกับหุ้น JKN ที่ราคาปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า -85% ภายใน 1 ปี 
จากราคาหุ้นที่เคยสูงถึงระดับ 12 บาท ปัจจุบันเหลืออยู๋เพียง 0.75 บาทเท่านั้น

แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ "สถานการณ์" และเหตุการณ์มีความแตกต่างกัน
กล่าวคือ เรื่องของ STARK เป็นเรื่องของการรปลอมแปลงบัญชี สร้างยอดขายปลอม และตัวผู้บริหารก็มีส่วนเข้าไปพัวพันเรื่องของการฉ้อโกง
แตกต่างจากของ JKN ที่น่าจะมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง จากการลงทุนที่มากเกินไป
ในขณะที่ธุรกิจที่ลงทุน ยังไม่สามารถสร้างรายได้ตามที่บริษัทคาดหวังเอาไว้

การประชุมคณะกรรมการล่าสุดของ JKN ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทยื่นคำร้องขอเข้าแผน "ฟื้นฟูกิจการ" ต่อศาลล้มละลายกลาง 
โดยมีเหตุผลหลักว่า "เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท"
ในคำชี้แจง ยังระบุอีกด้วยว่า JKN มีทั้งการปรับโครงการกิจการ แก้ปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หาทางออกเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เรื่อยไปจนถึง การขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการ และนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน โดยที่บริษัท ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้

 

พูดง่ายๆ คือ ธุรกิจของ STARK ยังมีความไม่แน่ใจเรื่องของการดำเนินธุรกิจ
แต่สำหรับของ JKN บริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้
งบ 6 เดือนปี 2566 บริษัทมีรายได้ 1.5 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 121 ล้านบาท
โดยธุรกิจหลัก คือ การให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ยังมีรายได้ 1,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากการขายในต่างประเทศ และกำไรขั้นต้น 738.41 ล้านบาท 
รวมถึงธุรกิจใหม่ อย่าง "มิสยูนิเวิร์ส" (MUO) มีรายได้ครึ่งปีที่ 229.58 ล้านบาท มีต้นทุนขายและให้บริการ 245 ล้านบาท กำไรขั้นต้นขาดทุน 15.51 ล้านบาท
และในส่วนธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ยังมีกำไรขั้นต้นที่ 56.64 ล้านบาท

 

 

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของการแก้ปัญหา
สำหรับวิกฤต STARK ทีมผู้บริหารมีการลาออก และหายตัวไป ไม่สามารถชี้แจงอะไรกับสื่อได้
แตกต่างจากของ JKN ที่ผู้บริหารยังแสดงการรับผิดชอบ ยังเปิดเผยต่อสื่อ พร้อมรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องของการผิดนัดชำระหนี้
ในส่วนของ STARK ถูกโกงเงินที่หายออกไปมากกว่าหนี้ที่มีอยู่มาก ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้จึงสูญเงินทันที 
ในขณะที่ JKN เป็นการลงทุนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ถ้า JKN หาเงินโดยเร่งขายสินทรัพย์ และเร่งคืนหนี้สินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ถือเป็นการกระทำที่มีความรับผิดชอบ
พูดง่ายๆ คือ ผู้ถือหุ้นกู้จะยังไม่สูญเงินทันที เพียงแต่ต้องรอดูว่า JKN จะรีบหาเงินมาใช้คืนหนี้ได้อย่างไร

 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจุดที่เหมือนกันคือ วิกฤตศรัทธา
เพราะถ้านักลงทุน "หมดศรัทธา" กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
บทลงโทษ คือ ราคาหุ้นที่ถูกเทขายอย่างหนักแทบจะหมดมูลค่าเหมือนกัน นั่นเอง ...

 

สุดท้าย สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้มากที่สุด คือ JKN จะมีแผนในการฟื้นฟูกิจการอย่างไร ? 
จากคำชี้แจงที่แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ ประกอบไปด้วย 5 แผนการด้วยกัน คือ 
1. การปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงินและสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างภายในองค์กร 
2. การขยายระยะเวลาการชําระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนํามาจัดสรรชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน 
3. การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน ทั้งจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือสถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท
4.การจัดหาแนวทางการดําเนินการขายทรัพย์สิน 
5. การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุงระบบ โครงสร้างภายในองค์กรและการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ โดยบริษัทยืนยันยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง
... โดย JKN ระบุว่า ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันทางการเงิน คู่ค้า เจ้าหนี้ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหนี้

 

อนึ่ง รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย C หลักทรัพย์ JKN ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 
... ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance (คือสมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น) ตั้งแต่วันที่ขึ้นเครื่องหมายเป็นต้นไป จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได้

 

ก็หวังว่า JKN จะฟื้นวิกฤตครั้งนี้ได้
แต่ความเชื่อมั่นจะเหลืออยู่หรือไม่ คือสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปครับ ...

------------------------------------------------------------------------------
Reference
ทันหุ้น

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

PPTV Online

THE STANDARD WEALTH

ฐานเศรษฐกิจ


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง