เมื่อไม่นานมานี้ มีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการ Digital Wallet เงิน 1 หมื่นบาทอาจจะตัดสิทธิ์ "คนรวย"
โดนนิยามคำจำกัดความของคนรวย ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางสังคม มีข้อเสนอ 3 รูปแบบ คือ
1. ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 1 แสนบาทออก โดยจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิ์เหลือ 43 ล้านคน ใช้วงเงินงบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท
2. ตัดกลุ่มที่ได้รับเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝากรวมกันมากกว่า 5 แสนบาท โดยจะทำให้ผู้รับสิทธิ์เหลือ 49 ล้านคน ใช้วงเงินประมาณ 4.9 แสนล้านบาท
3. ให้เข้าร่วมเฉพาะผู้ยากไร้ตามกลุ่มบัตรคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีการประกาศเพิ่มเติมว่าจะให้ KTB เป็นผู้ทำแอปพลิเคชั่น ยกเลิกเงื่อนไข 4 กิโลเมตร
ประกาศใช้ระดับอำเภอ และจะเริ่มแจกเงินภายในเดือนเมษายน 2567
ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า คำนิยามของ "คนรวย" คืออะไร ?
คำถามนี้ตอบยาก เพราะความรวยแต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนมี 1 ล้านบาท ก็เรียกว่ารวย
บางคนมี Passive Income เดือนละ 2 หมื่นบาท ก็เรียกว่ารวยได้เหมือนกัน ...
แล้วแบบไหนละ ถึงเรียกว่ารวย
ความร่ำรวยของแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน
เช่น ในสหรัฐอเมริกา ความร่ำรวยจะขีดเส้นแบ่งที่รายได้ 5 แสนเหรียญต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราวๆ 15 ล้านบาทต่อปี หรือ 1.25 ล้านบาทต่อเดือน)
หรืออย่างในฝรั่งเศส จะขีดเส้นแบ่งความรวยไว้ที่ 3,924 เหรียญต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.5 แสนบาทต่อเดือน
ซึ่งค่าเฉลี่ยรายได้ของชาวฝรั่งเศสอยู่ที่ 4.7 หมื่นบาทต่อเดือน
ซึ่งถ้าเราใช้เกณฑ์ของเงินเดือน จะมีคนเพียง 8% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่มของคนรวย
ดังนั้น การใช้เกณฑ์เรื่องของเงินเดือนอาจจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไรนัก
จะต้องใช้เกณฑ์บางอย่างเข้าไปด้วย เช่น มีบ้านเป็นของตัวเองไหม สามารถไปเที่ยวพักผ่อน หรือทำกิจกรรมได้อย่างอิสระมากน้อยแค่ไหน
แล้วสำหรับประเทศไทย ละ ?
ในประเทศไทยไม่มีคำนิยามเรื่องความร่ำรวยที่ชัดเจน
บ้างก็บอกว่าต้องดูที่ "Wealth" หรือความมั่งคั่งของแต่ละบุคคล
มีเงินฝากเท่าไร มีการลงทุนไหม หรือมีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน
หรือถ้ามีทรัพย์สิน มากกว่า หนี้สิน ก็ถือว่านิยามเป็นกลุ่มคนรวยได้เลย
บ้างก็บอกว่าต้องใช้ฐานรายได้ต่อเดือนเป็นเกณฑ์ ...
ข้อมูลจากจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า
ปี 2560 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 225,095 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 18,757 บาท)
ปี 2561 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 236,815 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 19,734 บาท)
ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 20,308 บาท)
ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 18,746 บาท)
ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,160 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 19,346 บาท)
ปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 248,468 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละ 20,705 บาท)
ดังนั้น ถือเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมาก ว่าภาครัฐจะนิยามความร่ำรวยอย่างไรสำหรับในประเทศไทย
บริษัทวิจัยระดับโลก "อิปซอสส์" ได้ทำการสำรวจหัวข้อเรื่อง Affluent Asia หรือ วิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย ในปี 2562
มีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ในเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนคนมั่งคั่ง 18% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวน 20.64 ล้านคน รายได้ต่อปีรวม 679,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทยมีจำนวน 1.8 ล้านคน รายได้ต่อปีรวม 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.52 ล้านบาทต่อปี
ชาวเอเชียกลุ่มฐานะดีมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.6 แสนบาทต่อเดือน
ขณะที่กลุ่มฐานะดีชาวไทยมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ 1.4 แสนบาท
ยิ่งไปกว่านั้น บทวิเคราะห์ยังแยกผลสำรวจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้สูง (Affluent) และ กลุ่มคนมั่งคั่ง (Ultra Affluent)
ในประเทศไทย กลุ่มที่มีรายได้สูง จะอยู่ที่ 75,000 บาทต่อเดือน
และกลุ่มที่มั่งคั่ง จะมีรายได้อยู่ที่ 275,000 บาทต่อเดือน
- อธิบายสาเหตุ ราคาทองคำถึงขึ้น แล้วการขึ้นลงของราคาทองเกิดจากอะไร ?
- 4 ทักษะทางการเงิน ที่เราจำเป็นต้องมี
- มองหาโอกาสใน Thucydide Trap เมื่อโลกกลัวการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสงสัยว่าแล้วในภาพรวม คือ การแจกเงินเฉพาะกลุ่มอย่างที่ประกาศกันออกมาแล้ว จะส่งผลอย่างไรต่อการลงทุน
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส วิเคราะห์ว่า จะเกิด Sentiment เชิงลบระยะสั้น จากความคาดหวังว่าเศรษฐฏิจไทยจะเติบโต 4.4% ในปี 2567
และยังเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่ม ค้าปลีก โรงพยาบาล กลุ่มท่องเที่ยว ขนส่ง และกลุ่มอาหาร ในระยะถัดไป
แต่ในอีกมุมหนึ่ง จะช่วยลดความกังวลเรื่องการกู้เงินเพิ่ม
ซึ่งตอนนี้ไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.8% และหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90%
จะทำให้การปรับลดอันดับเครดิตของสถาบันการเงินอาจจะไม่เกิดขึ้น หนุนให้ค่าเงินบาทชะรอการอ่อนค่าลงไปได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องของเงิน Digital Wallet ยังไม่มีความชัดเจน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกได้
ทั้งนี้ เรื่องของความรวยเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก เพราะคำนิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
สำหรับมหาเศรษฐี เงินจำนวน 1 ล้านบาท อาจเป็นเพียงแค่เศษเงิน
แต่สำหรับบางคน อาจหมายถึงเงินก้อนมหาศาล ที่สามารถใช้เลี้ยงดูตัวเองได้นานนับสิบปี
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตคนเราจะต้องมีเงินจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่าเพียงพอและสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น จากสิ่งภายนอกกายที่ทุกคนเรียกว่า "เงิน"
คำว่า "รวย" จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า
แต่หมายถึง ความพอดี และ พอใจ ของเราต่างหาก
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส