เวลาเราพูดถึงหุ้นค้าปลีก ตัวเลือกแรกๆในใจนักลงทุน คึอหุ้นอะไร
เชื่อว่านักลงทุนกว่า 90% จะนึกถึงหุ้น CPALL ไม่ก็ CPAXT (หุ้น MAKRO เดิม)
หรืออาจจะเป็น BJC ที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า BIGC
หรืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าเพื่อบ้าน เช่น HMPRO GLOBAL
แต่มีน้อยคนมากที่จะนึกถึงหุ้นค้าปลีกขนาดเล็ก อย่าง TNP หรือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน)
ห้างค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภค ที่ไม่รวมอาหารสดภายใต้ชื่อ "ธนพิริยะ"
บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2508 จากร้านขายของชำเล็กๆในเทศบาลเชียงรายที่ชื่อ "โง้วทองชัย" ก่อตั้งโดยครอบครัว พุฒิพิริยะ
ต่อมาในปี 2534 ได้พัฒนามาเป็นมินิมาร์ทแบบทันสมัย ในชื่อ "พิริยะมินิมาร์ท"
และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "ธนพิริยะ" ในปี 2543
ก่อนที่จะจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น MAI เมื่อเดือนพฤษจิกายน ปี 2558 ที่ราคา IPO 1.75 บาท จากราคาพาร์ 0.25 บาท
ความน่าสนใจ คือ ถ้าเราไปดู TNP จะพบว่าอัตราการทำกำไรของบริษัท "สูงกว่า" หุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่อยู่มาก
ผลประกอบการของ TNP ที่ผ่านมา
ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 1.96 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 88 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 2.20 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 2.63 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 192 ล้านบาท
ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 2.44 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท
โดยบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) สูงถึง ระดับ 6-7%
เช่นในปี 2564 บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิ สูงถึง 7.28%
ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่า CPALL ที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงระดับ 3%
หรือแม้แต่ CPAXT ที่มีอัตรากำไรสุทธิระดับ 3% และเมื่อรวมกับ Lotus's กลับยิ่งเป็นการกดดันอัตรากำไรสุทธิให้ตกต่ำ เหลือเพียงระดับ 1.64% เท่านั้น
พูดง่ายๆ คือ TNP คือหุ้นค้าปลีกภูธรที่มีอัตรากำไรมากกว่าบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ ซะอีก
- ลงทุนตาม “ประชากรศาสตร์” ในตลาดหุ้นไทย
- สรุป BCP การเข้าซื้อ ESSO ที่ 9.8986 บาท แพงไหม ?
- “CKP – BEM” รุกหนัก เซ็นสัญญาประวัติศาสตร์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย
คำถาม คือ เพราะสาเหตุอะไรทำไม TNP ที่เป็นร้านค้าปลีกในต่างจังหวัดถึงมีอัตรากำไรสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่
คำตอบ น่าจะมาจาก 3 เหตุผลด้วยกัน คือ
1. TNP เน้นตลาดต่างจังหวัด (ในที่นี้ คือ เชียงราย) ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างดี
สามารถเลือกสรรสินค้าให้เหมาะกับคนในพื้นที่
รวมถึงการบริการที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากกว่า
เช่น การมีพนักงานประจำชั้นเพื่อแนะนำสินค้า สร้างความสนิทสนมกับลูกค้า มีจุดชำระเงินจำนวนมาก ถือเป็นข้อได้เปรียบของ TNP ที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่มี
2. การทำโปรโมชั่น โดยไม่เน้นที่ถูกที่สุด แต่เป็นราคาที่แข่งขันได้ และยุติธรรมกับลูกค้า
3. การมีสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า
การสั่งสินค้าในปริมาณมาก มี Economy of Scale และการประหยัดในเรื่องของโลจิสติกส์ เพราะร้านค้าอยู่ในบริเวณที่จัดส่งสินค้าได้สะดวก ทำให้บริหารต้นทุนได้ดีกว่า
ปัจจุบัน TNP มีสาขาทั้งหมด 42 สาขา แบ่งออกเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต 41 สาขา ศูนย์ค้าส่ง 1 สาขา กระจายอยู่ใน 3 จังหวัดด้วยกัน คือ
สาขาเชียงราย 33 สาขา สาขาพะเยา 6 สาขา และสาขาเชียงใหม่ 3 สาขา เรียกได้ว่า อยู่ในภาคเหนือเป็นหลัก
ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นรายใหญ่ในภาคเหนือของประเทศ
สุดท้าย ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นค้าปลีกภูธรที่น่าสนใจอยู่ 2 บริษัท
โดยบริษัทแรก คือ TNP หรือ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) อย่างที่กล่าวไป
และบริษัทที่สอง คือ KK หรือ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน)
ถ้าดูผลประกอบการที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไซส์ของ KK ยังมีขนาดเล็กกว่า TNP อยู่พอสมควร
โดย KK มีมูลค่าตลาดราวๆ 600 ล้านบาท ในขณะที่ TNP มีมูลค่าตลาดประมาณ 3.13 พันล้านบาท
KK มีรายได้อยู่ราวๆพันล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 10 ล้านบาท
เท่ากับว่าบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ราวๆ 1-2%
ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับ TNP ที่มีอัตรากำไรสูงถึง 6-7% เลยทีเดียว ...
------------------------------------------------------------------------------
Reference
forbesthailand.com