เราคงเคยได้ยินหนึ่งในปัจจัยบวก ที่ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ๆตัดสินใจย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมองในแง่ “ประชากรศาสตร์” (Demographic Investing) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ Demographic Investing กันครับ มันคือการลงทุนโดยอาศัยข้อมูลประชากรศาสตร์ ทั้งในแง่จำนวนประชากรและช่วงอายุ โดยมองว่าในอนาคต การกระจายของประชากรจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วจึงเลือกลงทุนในหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้น
หนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์บวกจากมุมมองเชิงประชากรศาสตร์ คือ ประเทศเวียดนาม ประชากรทั้งประเทศมี 97.47 ล้านคน (ข้อมูลปี 2564) กลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุด คือ ประชากรวัยหนุ่มสาวอายุ 21-43 ปี อีกทั้งยังเป็นประชากรที่ขยันขันแข็ง มีความใฝ่เรียนรู้ การศึกษาดี ผลการทดสอบ PISA Test ของนักเรียนได้คะแนนสูงกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาเท่ากัน หรือสูงกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งค่าแรงยังถูกกว่าไทย ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI และสร้างการจ้างงานในประเทศได้มากมาย
ด้วยความที่ประชากรวัยทำงาน(และกำลังจะจบการศึกษาออกมาทำงาน)มีจำนวนเยอะมากขึ้น เวลาคนกลุ่มนี้มีความต้องการสินค้าและบริการอะไร สินค้าและบริการเหล่านั้นก็จะมีอุปสงค์ที่ดีไปด้วย Market Size ใหญ่ขึ้น เช่น เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยก็ซื้อโทรศัพท์มือถือกันทุกคน เมื่อเรียนจบไม่กี่ปีก็เตรียมซื้อรถยนต์ เมื่อจะแต่งงานสร้างครอบครัวก็จะซื้อบ้าน เมื่อมีลูกก็ต้องฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลและซื้อสินค้าสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก ฯลฯ
นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม จึงอาจลงทุนระยะยาวด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อประเทศเวียดนามเศรษฐกิจดีขึ้น จากภาคการผลิตดีขึ้น การส่งออกดีขึ้น การบริโภคในประเทศดีขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการของคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีกำลังซื้อสูง จะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม สิ่งนี้จะดำเนินต่อไปอีกกว่า 20 ปี และจะสะท้อนมาที่ราคาหุ้นที่ได้รับประโยชน์ในตลาดหุ้นเวียดนามในที่สุด
หันกลับมามองที่ประเทศไทย ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นมากพร้อมกับอัตราการเกิดต่ำมาก และกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society หรือ “สังคมผู้สูงวัย” อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยาก ด้วยมุมมองเชิงประชากรศาสตร์เพียงเท่านี้ อาจทำให้หลายคนมองว่า ตลาดหุ้นไทยไม่น่าลงทุนแล้ว เพราะนอกจากธุรกิจอยู่ใน Old Economy แล้ว ประชากรของเรายังกำลังเข้าสู่ Aging Society อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย แน่นอนว่าประชากรหนุ่มสาว ไม่ใช่กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด สัดส่วนประชากรตามอายุของไทยนั้นมีรูปเหมือนเจดีย์ที่บวมใกล้ยอด กลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุด คือ ประชากรช่วงอายุ 34-60 ปี โดยในช่วงปี 10 ปีข้างหน้านี้ ประชากรไทยที่มีอายุระหว่าง 0-20 ปีนั้นจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในทุกช่วงอายุ ในขณะที่ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งทุกปี
แม้ในเชิงประชากรศาสตร์ ประเทศไทยจะดูสูงอายุค่อนข้างมาก แต่ก็อย่าลืมว่า คนสูงวัย ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ไม่ได้มีไลฟ์สไตล์บริโภคประหยัดแบบคนสูงวัยตามนิยามเก่าแก่ที่คนไทยยังติดภาพนั้น เช่น เข้าวัดฟังธรรม กินน้อย ใช้น้อย นอนแต่บ้านไม่ออกไปไหน ในทางตรงกันข้าม คนสูงวัยไทยช่วง 60-70 ปีในยุคต่อไป คือกลุ่มที่ยังแข็งแรง ชอบท่องเที่ยว ดูแลตัวเอง และยินดีซื้อของแพงที่รสชาติอร่อยกิน ซึ่งจะผนวกเข้ากับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคน รวมทั้งคนต่างชาติที่จะเลือกเข้ามาใช้ชีวิตวัยเกษียณในประเทศไทยอีกด้วย
ถ้าคุณกำลังมองหาหุ้นไทยที่คิดจะถือไว้สัก 5-10 ปี กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ในความเห็นของผม กลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่
- ภาคท่องเที่ยว... โรงแรม ห้างสรรพสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ใช้ชีวิตได้ทั้งวัน
- ภาคบริการทางการแพทย์... ให้บริการรักษาพยาบาล บริการเวลเนส ชลอวัย ความสวยความงาม
- ภาคอสังหาฯให้เช่า... กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มห้างฯ กลุ่มคลังสินค้าโลจิสติกส์
- ภาคบริการทางการเงิน
- ภาคขนส่ง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ และการเดินทางทางราง
สรุป คือ การลงทุนตาม “ประชากรศาสตร์” นอกจากจะลงทุนในประเทศที่มีประชากรคนหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยคาดหวังเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตขึ้นได้แล้ว ยังสามารถลงทุนกับตลาดหุ้นไทย โดยมองไปที่กลุ่มที่กำลังจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการเปลี่ยนประชากรศาสตร์นั้น