เมื่อไม่นานมานี้คุณศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยผ่านรายการ The Secret Sauce ของ THE STANDARD ว่า
"พรรคก้าวไกลติดตามเรื่องการเคลื่อนไหวและความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงนี้อยู่เช่นกัน ...
สาเหตุที่ตลาดหุ้นร่วง น่าจะเป็นความกังวลเรื่องของความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล
และเชื่อว่าถ้าจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว ตลาดหุ้นน่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น"
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องของการ "ทลายทุนผูกขาด" ...
โดยในเนื้อข่าวมีการกล่าวถึง ทุนพลังงาน ที่อาจจะไม่ได้มีการให้สัญญาสัมปทานเหมือนอย่างที่เคยมีมา และหุ้นใหญ่อื่นๆต้องดูเป็นรายตัว
ที่ชัดเจน ที่สุด คือ การกล่าวถึง บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT
คุณศิริกัญญา แสดงความคิดเห็นว่า เข้าใจดีว่าสนามบินในเมืองหนึ่งมีเจ้าเดียว แต่ในเมืองอื่นๆ จำเป็นต้องเป็นเจ้าเดียวกันหรือไม่ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบิน เช่น ดิวตี้ฟรี จำเป็นจะต้องมีเจ้าเดียวหรือไม่
พูดง่ายๆ คือ AOT กำลังตกเป็นประเด็นเรื่องของทุนผูกขาด
ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง อาจจะมีการควบคุมหรือออกกฏหมายเรื่องของการแข่งขันบางอย่าง
ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีความชัดเจนมากนักว่าจะออกมาเป็นแบบไหน ?
คำถามคือ การที่เราบอกว่า AOT ผูกขาด แบบไหนที่เรียกว่าผูกขาด ?
AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นจำนวน 10,000,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ส่วนธุรกิจมีท่าอากาศยานภายใต้ความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ
1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2. ท่าอากาศยานดอนเมือง
3. ท่าอากาศยานเชียงใหม่
4. ท่าอากาศยานหาดใหญ่
5. ท่าอากาศยานภูเก็ต
6. ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง
พูดง่ายๆก็คือ บริหารธุรกิจสนามบินใหญ่ทั้ง 6 แห่งของไทย
แต่การที่เราบอกว่าผูกขาด คือ การเป็นผู้ให้บริการ “ท่าอากาศยาน” หลักของไทยทั้ง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองแต่เพียงผู้เดียว
ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการเดินทางโดยการขนส่งทางอากาศไปยังในประเทศและต่างประเทศย่อมต้องมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้งสองแห่งอย่างแน่นอน
ซึ่งท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักของไทย มีพื้นที่มากถึง 20,000 ไร่
- รู้จัก ASAP ธุรกิจรถยนต์ให้เช่าที่กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต
- การขึ้นค่าแรง 450 บาท อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด
- ปัญหา Debt Ceiling อธิบายในแบบเข้าใจง่าย
ถ้าเราบอกว่า เปิดเสรีให้คนอื่นเข้ามาแข่งขันเปิดสนามบินแข่งกับดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน ?
ก็อาจจะทำได้ยาก เพราะการทำสนามบินจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ดังนั้น อยู่ดีๆจะให้คนมาเปิดสนามบินแข่งกับสนามบินดอนเมืองหรือสนามบินสุวรรณภูมิ มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ...
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตา คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AOT คือกระทรวงการคลัง ที่ถือหุ้นอยู่ 70%
เรียกได้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นธุรกิจของภาครัฐ ที่บริหารงานโดยเอกชนและมีความเป็นมืออาชีพ
... ทำให้บางส่วนมองว่า การที่ AOT เป็นสัญญาสัมปทานที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะภาครัฐถือหุ้นใหญ่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่สมควร
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ยิ่ง AOT มีรายได้และกำไรมากเท่าไร บริษัทก็จะจ่ายเงินปันผลให้กับภาครัฐมากเท่านั้น
และแหล่งรายได้หลักของภาครัฐนอกจากเงินภาษีแล้ว ส่วนแบ่งกำไรของรัฐวิสาหกิจก็สำคัญไม่แพ้กันในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อน "รัฐสวัสดิการ" อย่างที่ทางพรรคตั้งเป้าหมายไว้
... ถ้าสมมุติว่าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง และมีมุมมองว่าจะ "ทลายทุนผูกขาด"
อาจจะเป็นการทำร้ายตัวเองในภายหลังหรือเปล่า
ก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดครับ ...
------------------------------------------------------------------------------
Reference
THE STANDARD WEALTH