เมื่อช่วงปีโรคระบาดโควิด หุ้นที่ราคาพุ่งอย่างโดดเด่นที่นักลงทุนต้องนึกถึง
เชื่อว่า SINGER น่าจะเป็นหุ้น 3 อันดับแรกในใจอย่างไม่ต้องสงสัย
สาเหตุเป็นเพราะว่าราคาหุ้นพุ่งจาก 4 บาทต้นๆ ไปแตะระดับสูงเกือบๆ 60 บาท ภายในระยะเวลาไม่นาน
ถามว่า เพราะสาเหตุอะไรทำให้หุ้น SINGER พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ?
สาเหตุเป็นเพราะว่า ในมุมมองของนักลงทุนแล้ว SINGER คือหุ้น TurnAround อย่างไม่ต้องสงสัย
ถ้าใครติดตามหุ้น SINGER มานาน จะรู้ว่าธุรกิจเดิม คือ บริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ควบคู่ไปกับ "เงินผ่อน" ที่ผลประกอบการลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอด
และเคยขาดทุนหนักมากถึง 1.2 พันล้านบาท ...
แต่จุดเปลี่ยน คือ ช่วงปี 2558 ที่กลุ่ม JMART เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยน SINGER ให้เข้าสู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อมากขึ้น คือ สินเชื่อเช่าซื้อสินค้า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร โดยที่ SINGER ก็จะทำรายได้จากดอกเบี้ยรับ ที่ลูกหนี้มาผ่อนชำระค่าเงินสินเชื่อ
SINGER เริ่มกลับมาขาดทุนน้อยลงเรื่อยๆ อย่างในปี 2561 บริษัทขาดทุนเหลือเพียง 80 ล้านบาท
ก่อนจะกลับมาทำกำไรในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
ไม่ใช่แค่กำไรที่ดูดีขึ้น รายได้ของบริษัทก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่า JMART กำลังนำพา SINGER มาถูกทาง
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้ 2.61 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 165 ล้านบาท
ในปี 2563 บริษัทมีรายได้ 3.65 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 443 ล้านบาท
ในปี 2564 บริษัทมีรายได้ 4.39 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 700 ล้านบาท
ในปี 2565 บริษัทมีรายได้ 5.20 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 935 ล้านบาท
ทิศทางที่ดี ส่งผลให้มูลค่าตลาด (Market Cap.) ของ SINGER พุ่งสูงตามไปด้วย
โดยช่วงพีคๆ บริษัทมีมูลค่าสูงถึงราวๆ 4.2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ากลุ่ม JMART มีความชำนาญเรื่องธุรกิจสินเชื่อและบริหารหนี้
โดยเฉพาะบริษัทลูกอย่าง JMT ซึ่งทำธุรกิจรับซื้อหนี้เสียและติดตามทวงหนี้โดยเฉพาะ
พอเข้าปี 2566 ราคาหุ้น SINGER ก็ถดถอยลงเรื่อยๆ โดยลดลงไปแล้วกว่า 55% ภายใน 5 เดือน
คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น SINGER
คำตอบ น่าจะมาจาก 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. ผู้บริหารลาออก
สิ่งแรกที่นักลงทุนกังวล คือ การลาออกของผู้บริหารระดับสูงอย่าง นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์
นายกิตติพงศ์ ถือเป็นบุคคลสำคัญภายในองค์กร ที่นำพา SINGER พลิกฟื้นสถานการณ์จากขาดทุนเป็นการฟื้นตัว
ทำให้นักลงทุนมองว่าการลาออก แสดงถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และนำไปสู่ปัญหาข้อที่ 2 คือ
2. ปัญหาการดำเนินธุรกิจ
ตลาดมองว่า SINGER กำลังเผชิญกับปัญหา NPL ก้อนใหญ่จากธุรกิจสินเชื่อลิสซิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการจากบริษัทลูก คือ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC)
พูดง่ายๆ คือ ผลประกอบการเป็นสัญญาณลบ และอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2566
ยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนยังกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตระยะยาว
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า สิ่งที่น่ากังวลในหุ้น SINGER คือ เรื่องของผู้บริหารลาออก
เพราะการที่ผู้บริหารลาออก เป็นการสะท้อนว่าปัญหา NPL อาจจะรุนแรงกว่าที่เคยคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้
สอดคล้องกับความเห็นของ บล. กรุงศรีพัฒนสิน ที่มองไปในทางลบที่ผู้บริหารลาออก ...
ฝ่ายวิจัยมองว่า SINGER ยังอยู่ในช่วงจัดการการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ หรือ NPL ทำให้การเติบโตของสินเชื่ออาจยังไม่เด่น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาราวๆ 2 ไตรมาส
ดังนั้นไตรมาส 1 ผลประกอบการของ SINGER น่าจะไม่โดดเด่น ประมาณการอาจจะยังมี Downside ได้อีก ...
อย่างไรก็ตาม หลังการลาออกผู้บริหารคนเก่า และได้แต่งตั้ง นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ซึ่งเป็น CEO ของ J-Mobile ขึ้นมาเป็นผู้บริหารคนใหม่ของ SINGER
อาจจะเป็นสัญญาณว่า SINGER จะเน้นไปหาสินค้า IT จาก J-Mobile แทนที่จะเป็นสินเชื่อประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบริษัทลูกอย่าง เอสจี แคปปิตอล (SGC) ที่พึ่งเข้าตลาดไปได้ไม่นาน
แต่เราต้องไม่ลืมว่า การเน้นไปที่สินค้า IT อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุน
เพราะสินค้า IT มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูง และมีผู้เล่นในตลาดนี้อยู่จำนวนมากพอสมควร
จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นราคาหุ้น SINGER ปรับตัวลงมากถึง -74% ภายใน 1 ปี
นี้ถือเป็นความท้าทาย ที่นักลงทุนต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด
ว่าบทสรุปครั้งนี้ของ SINGER จะจบลงอย่างไร ...
------------------------------------------------------------------------------
Reference
ForbesThailand