#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

สรุป SVB คืออะไร เกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมนักลงทุนต้องให้ความสนใจ ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
4,160 views

เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ คือ ปัญหาของ  Silicon Valley Bank หรือ SVB .. 
SVB คืออะไร เกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมนักลงทุนต้องให้ความสนใจ อยากจะเล่าให้ฟังสั้นๆแบบนี้ครับ

SVB ไม่ใช่แบงก์ใหม่ แต่ก่อตั้งมานานกว่า 40 ปี โดยสาขาแรกก่อตั้งขึ้นในปี 1983 ก่อนที่จะขยายสาขามาเรื่อยๆกว่า 29 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกา กลายมาเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 18 ของอเมริกา แต่เป็นแบงก์ขนาดใหญ่เบอร์ 1 ที่ทรงอิทธิพลมากใน Silicon Valley

 

ทำไมถึงบอกว่าทรงอิทธิพล ? 
สาเหตุเป็นเพราะว่า SVB เน้นปล่อยกู้ให้กับบริษัท Start-up บริษัทเทคโนโลยี หรือแม้แต่กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่กู้ไปเพื่อไปลงทุนในธุรกิจ Tech ต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งบริษัทหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงเติบโต ขยายธุรกิจ แต่บริษัทยังไม่มีกำไร  ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้จะขอกู้จากสถาบันการเงินใหญ่ๆย่อมเป็นไปได้ยากเพราะธุรกิจยังไม่มีกำไร สิ่งที่พอจะหาแหล่งเงินทุนได้ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนเฉพาะ Angle Investor กองทุนขนาดใหญ่หรือแบงก์ที่ปล่อยกู้ในด้านนี้โดยเฉพาะ
SVB ปล่อยกู้ให้กับ Start-up หลายบริษัท เช่น Shopify, ZipRecruiter
หรือแม้แต่นักลงทุนสถาบันใหญ่ๆ เช่น Andreessen Horowitz, Sequoia Capital, Accel, Kleiner Perkins, Ribbit Capital, Spark Capital และ Greylock.
พูดง่ายๆ คือ ถ้าจะลงทุนใน Tech. Startup หรือกู้ไปขยายกิจการ ต้องมาติดต่อ SVB โดยเฉพาะ ...

 

แต่สุดท้ายปัญหา SVB ส่อล้มละลายก็เกิดขึ้น 
คำถามคือ SVB ล้มละลาย มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ? 
คำตอบ น่าจะมีสาเหตุมาจากปัญหาที่ FED ขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง
แน่นอนว่า บริษัทเทคโนโลยีมีความอ่อนไหวทางด้านดอกเบี้ย เพราะบริษัทมีหนี้สินสูง ยังไม่มีกำไร ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.25% เช่น ดอกเบี้ย บริษัทก็พร้อมจะขาดทุนได้หนักกว่าเดิม
และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED 
เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นมาก่อนหน้านั้น เช่น บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ปิดตัวลงไปในบางประเทศ มีการเอาคนออกเป็นจำนวนมาก

 

SVB ทำธุรกิจรับฝากเงิน และปล่อยกู้ให้กับ Startup และ Venture Capital โดยให้ดอกเบี้ยสูง ทาง SVB จึงต้องซื้อตราสารหนี้ระยะยาวเป็นจำนวนมากเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน แต่การขึ้นดอกเบี้ยของ FED ทำให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวลดลง เท่ากับว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ SVB ถือจะลดลงแล้ว แถมยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นให้กับผู้ฝากเงินตามนโยบาย ทำให้แบงก์ต้องแบกภาระมากขึ้น
เมื่อคืนวันที่ 9 มีนาคม ปี 2023 อยู่ดีๆหุ้นของ SVB Financial ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ SVB ร่วงหนักกว่า 62% (และร่วงกว่า 80% ใน 1 ปี) 
โดยสาเหตุเพราะว่าบริษัทมีการขายตราสารหนี้ไปราวๆ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีผลขาดทุนหนักถึง 1.8 พันล้านเหรียญ ทำให้บริษัทต้องขายหุ้นเพิ่มทุนสูงถึง 2.25 พันล้านเหรียญ
กระแสข่าวนี้ทำให้คนเริ่มหวั่นใจ แห่กันไปถอนเงินเกิดเป็นปรากฏการณ์ Bank Run คือ ไม่มีเงินเพียงพอคืนให้กับลูกค้า 
ไม่ใช่แค่ผู้ฝากเงินอย่างเดียว 
แม้แต่สถาบันการเงินใหญ่ๆ  Venture Capitalist Firms หลายแห่ง เช่น Founders Fund, Coatue Management และ Union Square Ventures ต่างก็ดึงเงินออกจำนวนมหาศาลออกจาก SVB ด้วยเหมือนกัน
และล่าสุดถูกทางการเข้าควบคุมธนาคารเรียบร้อยแล้ว

 

เช้าวันที่ 10 มีนาคม Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) หรือหน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ ประกาศปิดตัว SVB โดยกรมคุ้มครองการเงินและนวัตกรรมแห่งแคลิฟอร์เนียแต่งตั้งให้ FDIC เข้ามาดูแลจัดการสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของ SVB เพื่อปกป้องผู้ที่ฝากเงินที่มีประกัน 
พร้อมกับประกาศว่า SVB จะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ซึ่งจะดำเนินการโดย DINB หรือ Deposit Insurance National Bank of Santa Clara ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเงินฝาก เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าสามารถเข้าถึงกองทุนประกันของตนได้อย่างต่อเนื่อง

พูดง่ายๆคือ ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้นภายใน 2 วัน ...

 

 

คำถามคือ ทำไมกระแสข่าวจึงออกมาน่ากลัว ดูตื่นตระหนก แสดงว่านักลงทุนต้องให้ความสนใจ ใช่ไหม ? 
คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหน  ...
ถ้ามองในภาพระยะสั้น ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล 
เพราะ SVB ถือว่าเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ 20 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของอเมริกา มีสินทรัพย์ในการดูแลมากถึง 2.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 
ถ้าเกิดเหตุการณ์ Bank Run ขึ้นมา คนแห่กันถอนเงินเพราะความตกใจ บริษัท Startup หลายแห่งไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้นอาจจะต้องปิดบริษัท เอาคนออก อาจจะกลายเป็นวิกฤตการเงินของอเมริกาได้ในภายหลัง

 

แต่ถ้าเรามองภาพระยะยาวและมองในแง่บวกมากพอ .... 
ต้องยอมรับว่าทางการสหรัฐแก้ปัญหาได้เร็ว ใช้เวลาเพียง 2 วัน ก็สามารถควบคุมปัญหาต่างๆได้ เช่น การสั่งปิดธนาคาร ชำระบัญชีเพื่อคืนหนี้ ทำให้ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงระบบที่อาจจะไม่ได้รุกลามไปยังธนาคารขนาดใหญ่ 
สุดท้ายแล้วมันก็อาจจะผ่านพ้นไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หรืออาจจะกลายมาเป็นเรื่องของการซื้อขายกิจการกันในภายหลัง
เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่า ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งแสดงความสนใจเข้าซื้อกิจการ SVB 
รวมถึงมหาเศรษฐี Elon Musk ที่แสดงความสนใจในการเข้าซื้อ SVB และเปลี่ยนมาเป็น Digital Bank

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สูญเสียไปแล้ว อาจจะเป็นเรื่องของวิกฤตศรัทธามากกว่า ... 
และข้อสงสัยที่ว่ายังมีธนาคารอื่นที่กำลังจะเป็นแบบนี้หรือไม่ในอนาคต 
ว่ากันว่า นี่เป็นเพียงโดมิโนตัวแรกที่ล้มเท่านั้นยังมีระเบิดเวลาลูกต่อไป เพราะยังมีสถาบันการเงินที่ถือตราสารหนี้ระยะยาวอีกหลายแห่ง
ต้องจับตาดูกันต่อไปครับ ...

------------------------------------------------------------------------------
Reference

wikipedia.org [1]

wikipedia.org [2]

fdic.gov

CNBC

Reuters.com

finance.yahoo.com

Bloomberg.com


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง