ผลประกอบการประจำไตรมาส 4 ปี 2565 กลุ่มแบงก์ประกาศออกมาเรียบร้อยแล้ว
คำถามคือ ภาพรวมเป็นอย่างไร ?
ต้องยอมรับว่า ไม่น่าประทับใจ และต่ำกว่าที่ตลาดประเมินไว้เกือบทุกธนาคาร ....
แต่ถ้าให้ลงลึก จะพบว่า ...
ธนาคารที่ผลประกอบการเติบโต คือ KTB TTB BBL BAY และ TISCO
ธนาคารที่ผลประกอบการลดลง คือ KBANK KKP และ SCB
ซึ่งทั้งสองกลุ่ม เป็นการเติบโตแบบเทียบปีต่อปี (YOY)
แต่ถ้าเติบโตเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส จะพบว่ามีแค่ 2 แบงก์เท่านั้นที่ผลประกอบการโต นั้นคือ TTB และ TISCO
ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มแบงก์ หรือมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ผลประกอบการออกมาไม่ดี
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส ได้วิเคราะห์ 3 เหตุผลหลักที่กดดันผลประกอบการ คือ
1. ต้นทุน Credit Cost ปรับตัวขึ้น
ทั้ง NPL ของธนาคารมีทิศทางสูงขึ้น การตั้งสำรองสูงขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก
และยังมีเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับ Balance Sheet ลดความเสี่ยงต่องบดุล
2. การวัดมูลค่าสินทรัพย์ผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL)
หลักๆเป็นผลมาจากการปรับมูลค่ายุติธรรมจากพอร์ตลงทุนของแต่ละแบงก์ ซึ่งมีความผันผวนสูงจากการลงทุนในตราสารทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SCB ที่มีการลงทุนใน Start up ทำให้ตรงส่วนนี้ -507 ล้านบาท ใน SCB10X
3. OPEX ตามฤดูกาล
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในการปรับโครงสร้างองค์กร กดดันผลประกอบการ
ตัวอย่างผลประกอบการ 3 แบงก์ใหญ่ แบบสรุปสั้นๆ
KBANK 4Q65 กำไรสุทธิ 3.19 พันล้านบาท (-70% QoQ , -68% YoY) ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดอย่างมากโดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองสูง
ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (FVTPL) จำนวนมาก ซึ่งถ้าตัดกำไรจาก FVTPL ออก KBANK จะมีรายงาน "ขาดทุน" ประมาณ 549 ล้านบาท
BBL กำไรสุทธิ 7.57 พันล้านบาท (-1% QoQ , +20% YoY) ดูดี ไม่ได้แย่ สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น เพียงแต่ตลาดคาดหวังมากกว่านั้น ซึ่งตลาดคาดหวังกำไรที่ 8.4 พันล้านบาท
สาเหตุสำคัญคือขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (FVTPL) จำนวน 1.96 พันล้านบาท
SCB กำไรสุทธิอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท (-31% QoQ , -9% YoY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาด จากแรงกดดัน OPEX ที่เป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการปรับโครงสร้างองค์กรราวๆ 2 พันล้านบาท และการปรับมูลค่ายุติธรรม (FVTLP) ในการลงทุน Start Up ใน SCB10X จากภาวะตลาดและเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ตลาดมองว่า SCB กลายเป็นหุ้น High Righ, High Return ที่มีความเสี่ยง ถ้าบริษัทที่ SCB ลงทุนสามารถเป็น Unicorn หรือ IPO เข้าตลาดหุ้นได้จะมีภาพเป็นบวกอย่างมาก และเป็นการ Unlock Valuation ในอนาคต
- กรณีศึกษา TISCO มูลค่าของหุ้นอยู่ที่การปันผลสูง
- Golden Shares ถือหุ้น 1% ก็สามารถควบคุมบริษัทได้
- จีน กำลังทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมาก
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะสรุปว่าถ้ากลุ่มแบงก์ไม่ดี เศรษฐกิจไทยต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน
ก็อาจจะเป็นการ "ด่วนสรุปเกินไป" ...
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ในปี 2566 จะเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจไทยมีภาพรวมที่ดี จะทำให้แรงกดดันเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ลดน้อยลง ผลประกอบการกลุ่มแบงก์อาจจะไม่ได้แย่เหมือนอย่างช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 ก็เป็นไปได้ครับ
อีกทั้ง ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจโลกเรื่อง Recession ก็ดูผ่อนคลายลงจากตัวเลขต่างๆของทางอเมริกาที่ดีขึ้น แรงกดดันเรื่องดอกเบี้ยน่าจะลดน้อยลง
ถือว่าปีนี้ มีภาพที่เป็นบวกที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ครับ
------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส [1]
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส [2]