หลายๆครั้ง เวลาเราดูพื้นฐานหุ้นตัวหนึ่ง บริษัทมีกำไร และจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นมาตลอด
แต่วันดีคืนดี บริษัทกลับแจ้งว่าล้มละลาย ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ในขณะที่อีกหลายบริษัท ขาดทุนแล้วขาดทุนอีก ก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ สภาพคล่องทางการเงิน ..
คำถาม คือ ในมุมนักลงทุนแล้ว เราจะตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างไร
และรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทที่เราสนใจมีสภาพคล่องทางการเงิน "ดีเพียงพอ"
คำตอบ คือ การเข้าไปตรวจสอบ วงจรเงินสด และกระแสเงินสดอิสระ
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า (วัน) + ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน) - ระยะเวลาชำระหนี้ (วัน)
คือ ตัวเลขที่บอกถึงจำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน
พูดง่ายๆ คือ ระยะเวลาระหว่างที่ลงทุนไปจนได้เงินกลับมา ใช้เวลากี่วัน
และยังสามารถบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน และสภาพคล่องของบริษัทได้อีกด้วย
ซึ่งวิธีการนำไปใช้ คือ "ยิ่งน้อย หรือยิ่งติดลบ ยิ่งดี"
เพราะสะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ
ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขนี้ "ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งไม่ดี"
แสดงว่าบริษัทสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้มีการเงินที่ติด ๆ ขัด ๆ หรือมีสภาพคล่องต่ำ
นักลงทุนสามารถดูตัวเลขทางการเงินนี้ได้ในส่วนของ "ข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน" ผ่านเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ได้เลย
กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow
นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่า ในส่วนของบัญชี จะมีงบ 3 ส่วน ประกอบไปด้วย
งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด
ซึ่งกระแสเงินสดอิสระ สามารถดูได้จากงบกระแสเงินสด
กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) - ค่าใช้จ่ายการลงทุน (Capital Expenditures)
ซึ่ง ค่าใช้จ่ายการลงทุน จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
- Cashflow from Investing หรือ กระแสเงินสดจากการลงทุนของบริษัท
- Cashflow from Financing หรือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
ซึ่งหมายความว่า กระแสเงินสดอิสระ เป็นกระแสเงินสดที่คงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายไปกับทุกกิจกรรมในการทำธุรกิจ ซึ่งรวมถึงเงินที่ใช้ลงทุน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย
โดย CFO มีค่าเป็นบวก แสดงว่ามีกระแสเงินสดอิสระเข้ามาบริษัท ก็สะท้อนว่ากิจการนั้นมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
ในทางตรงกันข้าม ถ้า CFO มีค่าเป็นลบ แสดงว่ากระแสเงินสดออกจากบริษัท ก็สะท้อนว่าบริษัทนั้นอาจจะมีปัญหาทางด้านสภาพคล่องได้
- งบกระแสเงินสด ฉบับเข้าใจง่าย
- เข้าใจ "วงจรเงินสด" ตัวเลขที่นักลงทุนต้องเข้าใจ ก่อนลงทุนซื้อหุ้น
- ลงทุนแบบสบายใจ ด้วยหุ้นแข็งแกร่ง + Reinvest
แต่การจะดูตัวเลขเพียงแค่ 2 ตัว แล้วตีความว่า ดีหรือไม่ดี ก็อาจจะด่วนสรุปเร็วเกินไป
นักลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจบริษัทนั้นอย่างดี ถ้า CFO เป็นลบ ก็อาจจะบ่งบอกว่าบริษัททุ่มเงินไปกับการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต
หรือ Cash Cycle มีค่ามากๆ ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่า แย่เสมอไป แต่ด้วยธรรมชาติของธุรกิจนั้นก็เป็นไปได้
ดังนั้น เราจะต้องดูปัจจัยอื่นๆ เช่น สินค้าและบริการ อัตรากำไรที่บริษัททำได้ การเติบโตของรายได้
และสำคัญที่สุด คือ ผู้บริหาร
ถ้าผู้บริหารมีความตรงไปตรงมา นักลงทุนก็สามารถไว้วางใจในตัวบริษํท และสามารถลงทุนในหุ้นบริษํทนั้นๆได้เหมือนกันครับ