หลายๆครั้ง เวลาเราดูงบการเงิน
นักลงทุนกว่า 80% มักจะให้ความสำคัญกับงบกำไร - ขาดทุน เหนืองบประเภทอื่นๆ
และนั้นคือ จุดผิดพลาดของการอ่านงบการเงินที่ทำให้เกิดความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
เพราะงบการเงิน นอกเหนือจากงบกำไรขาดทุนแล้ว ยังมีงบดุล และงบกระแสเงินสดที่เราต้องให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วงจรเงินสด" หรือ Cash Cycle คือตัวเลขทางการเงิน ที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนลงทุนซื้อหุ้น "ทุกครั้ง"
คำถาม คือ วงจรเงินสด คืออะไร ?
ถ้าให้อธิบายแบบสั้นๆ คือ ตัวเลขที่บอกถึงจำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน
พูดง่ายๆ คือ ระยะเวลาระหว่างที่ลงทุนไปจนได้เงินกลับมา ใช้เวลากี่วัน
และยังสามารถบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน และสภาพคล่องของบริษัทได้อีกด้วย
นักลงทุนมักจะจำสูตรสำเร็จว่า "ยิ่งน้อย หรือยิ่งติดลบ ยิ่งดี"
เพราะสะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ
ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขนี้ "ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งไม่ดี"
แสดงว่าบริษัทสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้มีการเงินที่ติด ๆ ขัด ๆ หรือมีสภาพคล่องต่ำ
นักลงทุนสามารถดูตัวเลขทางการเงินนี้ได้ในส่วนของ "ข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน" ผ่านเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ได้เลย ...
แต่ถ้าจะให้อธิบายแบบยาวๆ และเราสามารถทำความเข้าใจ จนนำไปใช้ได้จริง เราจะทำความเข้าใจได้อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาจ่ายหนี้
โดยที่ตัวเลข ทั้ง 3 ตัว คือ ระยะเวลาขายสินค้า , ระยะเวลาเก็บหนี้ และระยะเวลาจ่ายหนี้ สามารถดูได้ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์ได้เลย
บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลไว้อยู่แล้ว
เรามาดูตัวอย่าง เช่น หุ้นบริษัทค้าปลีก ที่มักจะได้รับการยอมรับว่าวงจรเงินสด "ดี" เช่น CPALL
CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่นักลงทุนมักจะเรียกกันติดปากว่า "หุ้นเซเว่น"
งบ 9 เดือน ปี 2566
มีระยะเวลาขายสินค้า 28.44 วัน
ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย 1.3 วัน
ระยะเวลาจ่ายหนี้ 53.14 วัน
เมื่อนำมาเข้าสูตร จะได้ วงจรเงินสด = 28.44 + 1.3 - 53.14 = -23.40 (ซึ่งตัวเลขจะตรงกับในส่วนของข้อมูลวงจรเงินสดของตลาดหลักทรัพย์)

จากข้อมูลข้างต้น เราามารถตีความได้ว่า
พอบริษัทเอาของมาขาย จะใช้เวลาขายของประมาณ 28.4 วัน
หลังจากนั้น จะเรียกเก็บหนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1.3 วัน
และเวลาจ่ายหนี้การค้า หรือแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่นำมาวางขายผ่านร้านเซเว่น จะใช้เวลาถึง 53.14 วัน
เท่ากับว่า เซเว่นจะมีเวลาประมาณ 23 หรือ 24 วัน ที่สามารถนำเงินสดมาใช้หมุนเวียนกิจการก่อน
เราลองมาดูบริษัทที่มีวงจรเงินสดมากๆ เช่น บริษัททำสื่อแห่งหนึ่ง ที่เคยมีปัญหาเรื่องผิดนัดชำระหนี้
จะพบว่า ปี 2564 วงจรเงินสด 228.35 วัน
ปี 2565 วงจรเงินสด 32.9 วัน
งบ 9 เดือน ปี 2565 มี วงจรเงินสด 50.9 วัน
พูดง่ายๆ คือ บริษัทได้คอนเทนต์ หรือสื่อมาแล้ว ใช้เวลาในการขายราวๆ 4-5 วัน และต้องคืนหนี้ให้กับเจ้าของคอนเทนต์ประมาณ 121 วัน
ก่อนที่จะเรียกเก็บเงินจากคนที่เอาคอนเทนต์ของบริษัท ใช้เวลาประมาณ 345 วัน
ส่งผลให้วงจรเงินสด สูงถึง 228 วัน อาจจะส่งผลให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้

"สภาพคล่อง" คือหัวใจสำคัญอีกอย่างของการทำธุรกิจ ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
เพราะธุรกิจ ทำกำไรได้มากก็จริง แต่ถ้าขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถหาเงินสดมาหมุนเวียนในกิจการได้ ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
ดังนั้น นอกจากเราจะดูงบกำไรขาดทุนแล้ว สิ่งที่ต้องดูตามมาด้วย คือ สภาพคล่องของบริษัท โดยเฉพาะวงจรเงินสด
ที่เรามักจะท่องจำกันว่า "ยิ่งน้อย หรือยิ่งติดลบ ยิ่งดี"
------------------------------------------------------------------------------
Reference
https://wconnex.bualuang.co.th/s/article/cashconversioncycle?language=th
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/281-cash-cycle-for-business-liquidity
https://www.longtunman.com/36740
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/cpall/factsheet
https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/jkn/factsheet