คำถามสั้นๆ แต่น่าสนใจ คือ สรุปแล้วการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ต้องเสียภาษีไหม
ถ้าจะให้ตอบแบบสั้นๆ คือ ต้องเสียภาษีครับ
แต่ถ้าจะให้แยกย่อย ก็จะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
- ซื้อหุ้นโดยตรงต้องเสียภาษี
- ซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษี แต่มีค่าธรรมเนียม 1-2% ต่อปีจากเงินลงทุน
- ซื้อ DR หรือ DRx ไม่ต้องเสียภาษี
ประเด็นสำคัญ จะอยู่ตรงที่การซื้อหุ้น "โดยตรง" ต้องเสียภาษี
เพราะปัจจุบันนี้ การไปซื้อหุ้นต่างประเทศ เป็นอะไรที่สะดวกสบายมาก เปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ก็สามารถโอนเงิน แลกเปลี่ยนสกุลเงิน
แล้วสามารถซื้อหุ้นต่างประเทศได้เลย
ซึ่งถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว ซื้อแล้วถือ ไม่ได้เอาเงินก้อนนั้นกลับมา เงินนั้นก็จะไม่ถูกนำมาคำนวนภาษี
แต่ถ้าเมื่อไรที่เรานำเงินจากต่างประเทศ กลับมายังประเทศไทย
เงินก้อนนั้นจะถือเป็นรายได้ และต้องนำกลับมาคำนวนภาษี
ซึ่งฐานภาษีสูงสุดของบุคคลธรรมดา จะอยู่ที่ 35%
ในขณะที่ภาษีสูงสุดของนิติบุคคล จะอยู่ที่ 20%
นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม นักลงทุนหลายคนเริ่มตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง ไปถือหุ้นต่างประเทศ เพราะจะลดหย่อนภาษีได้มากอยู่เหมือนกัน
พูดแบบนี้แล้วอาจจะไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเราลองใส่ตัวเลขจะเห็นภาพอย่างแน่นอน เช่น
นำกลับมา 100 ล้านบาท ฐานภาษีจะอยู่ที่ 35% เท่ากับต้องเสียให้กับภาครัฐ 35 ล้านบาท เหลือเงินของเรา 65 ล้านบาท
แต่ถ้าเราจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเมื่อไร นำเงินกลับมา 100 ล้านบาท ฐานภาษีจะอยู่ที่ 20% เท่ากับต้องเสียให้กับภาครัฐ 20 ล้านบาท เหลือเงินของเรา 80 ล้านบาท
ซึ่งถือว่าแตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับการถือหุ้นแบบส่วนบุคคล
คำถามต่อมา คือ ถ้าเรานำเงินกลับมาจากต่างประเทศ เราจะถูกเก็บภาษีจากแค่กำไรที่ทำได้ หรือเป็นการเก็บเงินจากทั้งก้อน (เงินของเรา + กำไรที่ทำได้)
คำตอบ คือ เก็บจากกำไรที่ทำได้ แต่ก็มีรายละเอียดอยู่บ้างเหมือนกัน ...
กรมสรรพากร ระบุภาษีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศจะถูกคำนวณก็ต่อเมื่อนำเงินกลับเข้ามาในไทยเท่านั้น
หลักการเขาจะพิจารณาจากเงินลงทุนเริ่มต้นก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาจากกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ
ซึ่งจะเข้าเกณฑ์มาตรา 40 (4) ดอกเบี้ยและเงินปันผล ของเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร
ตัวอย่างเช่น เราลงทุนในหุ้นอเมริกาก่อนปี 2567 เงินเริ่มต้นของเรา 1 ล้านบาท
และกลายมาเป็น 1.3 ล้านบาทในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566
ต่อมาในปี 2567 เรามีพอร์ตมูลค่า 1.5 ล้านบาท (คือกำไรเพิ่มอีก 2 แสนบาท) และเราจะนำเงินนั้นกลับเข้ามาประเทศไทย
กรณีแรก ถ้าเรานำเงินกลับมา 5 แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะเป็นส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท
กรณีที่สอง หากเรานำเงินกลับมาอีก 5 แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะจำนวนยังอยู่ในส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น
กรณีที่สาม หากเรานำเงินกลับมาอีก 3 แสนบาท ในปี 2567 เราอาจจะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่
และสำแดงเงินได้จากต่างประเทศส่วนนี้ว่า เป็น Capital Gain หรือส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้นก่อนปี 2567 เพื่อให้เราไม่ต้องเสียภาษี ภายใต้กฎเกณฑ์เก่า
กรณีที่สี่ หากคุณนำเงินที่เหลือจากพอร์ตลงทุนหุ้นสหรัฐอเมริกากลับมา จำนวน 200,000 บาทในปีภาษี 2568 หรือในปีภาษีต่อๆ ไป
คุณจะต้องนำมาคำนวณเงินได้ เพราะเป็น Capital Gain ที่เกิดขึ้นหลังปี 2567 ภายใต้กฎเกณฑ์กรมสรรพากรใหม่
ประเด็นถัดมา คือ ถ้าเราขาดทุนละ จาก 1 ล้านบาทเหลือ 8 แสน แล้วนำเงินกลับมา
เงินก้อนนั้น จะไม่เสียภาษี เพราะขาดทุนจำนวนเงินที่เอากลับเข้ามาก็ยังอยู่ในส่วนของเงินลงทุนเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการทำอย่างถูกต้องตามกฏหมายของประเทศไทย
ควรติดต่อปรึกษากับสรรพากรในพื้นที่ และแสดงหลักฐานจากการลงทุนต่างประเทศ ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาอีกที จะเป็นทางที่ดีที่สุดครับ
- การปรับพอร์ตหุ้น
- เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังโตต่ำ และอาจจะโตไม่ถึง 3%
- สรุปสาเหตุ ทำไม Bitcoin ราคาสูงขึ้นจนแตะ All Time High ?
แล้วถ้าเราคิดต่อไป การเก็บภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดหุ้นไทย
นักลงทุนอาจจะเริ่มคิดแล้วว่า การลงทุนในหุ้นไทยอาจจะมี "แต้มต่อ" ที่มากกว่า
เพราะได้กำไรก็ไม่เสียภาษี อาจจะเสียภาษีจากเงินปันผลเพียงอย่างเดียว
หรือถ้าใครอยากลงทุนหุ้นต่างประเทศจริงๆ ก็อาจจะต้องลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ หรือ DR ที่ซื้อขายผ่าน Streaming ได้โดยตรง
พูดง่ายๆ คือ อุตสาหกรรมกองทุนรวมน่าจะได้อานิสงค์ไม่มากก็น้อย
แต่ผู้ที่เสียประโยชน์จริงๆ คือ บริษัทหลักทรัพย์
เพราะการไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแบบไม่ยุ่งยาก เพิ่งจะมีมาไม่นาน ก็มาโดนเรียกเก็บภาษีแล้ว
ทำให้ผู้ให้บริการ เช่นบริษัทหลักทรัพย์ อาจจะต้องปรับตัวนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือมีการออก DR ที่น่าสนใจต่อไป