#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#แนวคิดด้านการลงทุน

SCGD เอสซีจี เดคคอร์ น่าสนใจในการลงทุน มากแค่ไหน ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
2,342 views

เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต้องรู้จักหุ้น SCC หรือปูนซีเมนต์ไทย อย่างแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่า SCC เองก็มีบริษัทลูกที่น่าสนใจอย่างมากเหมือนกัน 
นั้นก็คือ SCGD หรือ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) 
ผู้ทำธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้นบุผนัง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และธุรกิจผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย รวมถึงผู้จัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกของตนเอง และธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ การให้บริการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า SCGD กำลังจะเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเร็วๆนี้ โดยกำหนดราคา IPO ที่ 11.5 บาทต่อหุ้น ด้วยราคาพาร์ 10 บาท 
โดยจะเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 8 ธันวาคม 
และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อในวันที่ 12-13 ธันวาคม

แต่เดิม SCGD มาจากหุ้นเดิมที่ชื่อว่า "COTTO"
โดยบริษัท SCG Decor เป็นบริษัทแกนนำ (Flagship company) ของกลุ่ม SCC ทำธุรกิจ วัสดุปิดผิวสำหรับงานตกแต่ง ธุรกิจสุขภัณฑ์ ห้องน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
เข้าซื้อหุ้น COTTO ในราคา 2.4 บาท
พูดง่ายๆ คือ เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของ SCC  ในส่วนของธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มีการเติบโตที่มากขึ้น

 

คำถาม คือ ในมุมของการลงทุนแล้ว 
SCGD น่าสนใจมากแค่ไหน ? 
คำตอบ คือ มีความน่าสนใจอยู่มาก ... 
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหาร SCGD เปิดเผยว่า บริษัทฯ ผสานความแข็งแกร่งของ 5 บริษัทย่อย มุ่งขยายธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และคงความเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการขยายตลาดใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพเติบโตสูงจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 560 ล้านคน

โดยใช้จุดแข็งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีสินค้านวัตกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลาย สามารถตอบสนองลูกค้าทุกระดับ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายกว่า 800 ราย และร้านค้าเครือข่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ร้าน ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทฯ และออนไลน์ รวมถึงตลาดส่งออกกว่า 57 ประเทศ

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจากการขยายตัวของเมือง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ชนชั้นกลาง คาดว่ามูลค่าตลาดรวมวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2565-2569 จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 180,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท โดยความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการสินค้าระดับพรีเมียม สินค้าที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม Smart Products มากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้

 

โครงสร้างรายได้ของ SCGD มาจาก 3 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 
1. ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว สัดส่วนรายได้ 80.7% 
แบ่งออกเป็น
- ในประเทศไทย 41.1%
- ในประเทศเวียดนาม 26.1%
- ในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สัดส่วน 15.1% 
2. ธุรกิจสุขภัณฑ์ สัดส่วนรายได้ 16.9%
3. ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจติดตั้งอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์  สัดส่วนรายได้ 2.5%

 

ผลประกอบการของ SCGD ที่ผ่านมา พบว่า 
ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 24.96 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.23 พันล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 26.48 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.40 พันล้านบาท
ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 30.88 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 643 ล้านบาท
ปี 2566 ผลประกอบการ 9 เดือน บริษัทมีรายได้ 22.00 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 547 ล้านบาท

ในปัจจุบัน SCGD ถือเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังการผลิตรวม 187.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ติดท็อป 5 ของโลก มีโรงงานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย กำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานผลิตก๊อกน้ำในประเทศไทย กำลังการผลิต 1.7 ล้านชิ้นต่อปี และมีส่วนแบ่งการตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิวเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงส่วนแบ่งตลาดสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย

 

 

หลังการ IPO คาดว่าบริษัทน่าจะได้รับเงินประมาณ 2,425 ล้านบาท 
โดยจะแบ่งวัตถุประสงค์ในการใช้เงินออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 
1. เพื่อเป็นการพัฒนาธุรกิจ แบ่งออกเป็น 
- การลงทุนในการขยายกำลังการผลิต และองทางจัดจำหน่าย ใช้เงิน 796 ล้านบาท
- การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และ Net Zero Carbon ใช้เงิน 504 ล้านบาท
- การลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ ใช้เงิน 495 ล้านบาท
2. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนหนี้เงินกู้ ประมาณ 630 ล้านบาท

 

คำถามสุดท้าย คือ ด้วยระดับราคา IPO ที่  11.5 บาทต่อหุ้น มีความเหมาะสมมากแค่ไหน
ตามข้อมูล Filling ของตลาดหลักทรัพย์รายงานว่า 
มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จะได้กำไรสุทธิ (EPS) อยู่ที่ 0.58 บาทต่อหุ้น 
ทำให้อัตราส่วน P/E ของหุ้น อยู่ที่ 19.9 เท่า และพิจารณาจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน เช่น
- หุ้น DCC มีค่า P/E อยู่ที่ 13.22 เท่า 
- หุ้น DRT มีค่า P/E อยู่ที่ 11.31 เท่า 
- กลุ่มดัชนีวัสดุก่อสร้าง มีค่า P/E อยู่ที่ 14.26 เท่า

------------------------------------------------------------------------------
Reference
THE STANDARD WEALTH

thairath.co.th

ข้อมูล Filling : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ลงทุนแมน


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง