#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน
#มือใหม่เริ่มลงทุน

กรณีศึกษา BCPG โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่พยายามปรับตัวหลังหมดสัญญา Adder

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
2,991 views

เชื่อหรือไม่ว่าในยุคหนึ่ง ตลาดหุ้นไทยเคยมีกระแสหุ้น "พลังงานสะอาด" อยู่ช่วงหนึ่ง
บริษัทไหนที่ทำพลังงานสะอาด หรือประกาศว่ากำลังจะทำ หุ้นจะขึ้นรับความคาดหวังอย่างมาก
ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นเรื่องของสัญญา "Adder" 
ที่ทำให้โรงไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานสะอาด จะได้อัตรากำไรที่สูงมาก

 

อะไรคือ Adder ?
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักลงทุนที่จะลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า จำเป็นจะต้องรู้จักคำศัพท์ 2 คำ คือ Adder และ FiT 
Adder คือ อัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า  
พูดง่ายๆ คือ เป็นอัตราจูงใจให้นักลงทุนหันมาลงทุนทำโรงไฟฟ้ามากขึ้น โดยแลกกับสัญญาว่าจะได้กำไรดีมากๆ ในช่วง 7 หรือ 10 ปี แล้วแต่สัญญากำหนด
เมื่อสัญญาณจบลง จะกลับไปเป็นสัญญารูปแบบของ FiT แทน

 

Fit หรือ Feed-in-Tariff
ถ้าให้อธิบายสั้นๆ คือ เป็นอัตรารับซื้อราคาปกติ (ราคารับซื้อจะลดลงอย่างมาก)
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงของการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานธรรมชาติ อันได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม และน้ำขนาดเล็ก จะไม่มีต้ทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสื่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากอีกกลุ่มหนึ่งอันได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง ดังนั้น การกำหนด FiT จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ
1. อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (Fit Fixed : FITf) คิดจากต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท
2. อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนผันแปร (FiT Variable : FiTv) คิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีเปลี่ยนแปลงตามเวลา ใช้สำหรับพลังงานหมุนเวียนกลุ่มพลังงานชีวมวลและชีวภาพ

พูดง่ายๆ คือ ในช่วงแรกของการลงทุน
สัญญาจะถูกปรับเป็น Adder  เพื่อจูงใจให้นักลงทุนหันมาสร้างโรงไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานสะอาด
ต่อมาหลังจากสัญญา Adder หมด ก็จะปรับไปใช้อัตราการรับซื้อในเรทปกติ หรือ FiT อย่างที่กล่าวถึงกันมานั่นเอง
และหุ้นยุคแรกๆที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือ BCPG หรือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) 
บริษัทในเครือของบางจาก ที่ลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 
รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

 

ธุรกิจของ BCPG มีตั้งแต่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ก๊าซธรรมชาติ 
มีทั้งธุรกิจในไทยและต่างประเทศ
ผลประกอบารของ BCPG ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามีการเติบโตแบบสม่ำเสมอ
ปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.80 พันล้านบาท
ปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.91 พันล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2.01 พันล้านบาท
ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2.63 พันล้านบาท
และอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงระดับ 65% 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ อัตรากำไรสุทธิของบริษัทค่อยๆลดลงเรื่อยๆ
ปี 2565 สูงถึงระดับ 53% 
ต่อมาในปี 2563 ลดงเหลือ 45% และเหลือเพียง 43% ภายในปี 2564
ในผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 อัตรากำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 33% เท่านั้น

คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับ BCPG ที่กำลังมีอัตรากำไรสุทธิลดลงเรื่อยๆ ?
คำตอบ คือ สัญญา Adder ที่เคยมีในช่วงแรกต่างก็ค่อยๆปรับตัวหมดสัญญาลง กลายมาเป็นสัญญา FiT แทน ทำให้อัตรากำไรที่เคยดี ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม BCPG ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ 
เพราะถ้าใครติดตามบริษัทอย่างต่อเนื่อง จะพบว่า BCPG เองก็พยายามหาการลงทุนใหม่ๆเพื่อชดเชยในส่วนของสัญญา Adder ที่ค่อยๆทยอยหมดลง
อย่างล่าสุด BCPG ได้ลงทุน 5 โครงการใหม่ และมีโครงการพัฒนาขึ้นใหม่อีกหลายโครงการด้วยงบลงทุนกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท
และในปี 2567 มีแผนใช้เงินอีก 1.4 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็น 6 พันล้านบาท สำหรับก่อสร้างโครงการใหม่
และอีก 8 พันล้านบาท สำหรับโครงการที่พัฒนาอยู่ 
โดยจะมุ่งเน้นไปที่โคงการพลังงานลม Monsoon Wind Farm ใน สปป.ลาว และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน

 

เมื่อไม่นานมานี้ BCPG แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้ลงนามในสัญญาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่งในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 12.95 เมกะวัตต์ ในราคา 477 ลบ.  
ด้วยอัตรา FiT ที่ 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง โดยดีลคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1Q24

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆอย่างต่อเนื่อง 
สาเหตุที่ทำแบบนี้ เป็นเพราะว่า BCPG ต้องการหาสิ่งที่มาทดแทนหลังจากสัญญา Adder ที่ค่อยๆทยอยหมดลง
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา ขนาด 857 เมกะวัตต์ 
BCPG คาดว่าจะพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โครงการ wind repowering (การดัดแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพของกังหันลมเก่า) โครงการโรงไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ และโครงการดักจับคาร์บอน

 

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อระยะยาวกับหุ้น BCPG 
การลงทุนอย่างหนักของ BCPG เพื่อชดเชยกับ adder ที่ค่อยทยอยหมดอายุไป 
การเปิดเผยโครงการใหม่ๆ ทำให้ได้รู้ว่า BCPG จะมีกำไรเพิ่มอีกปีละ 20-25 ล้านบาท
หรือคิดเป็น EPS อยู่ที่ราวๆ 0.09 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปดูราคาหุ้น พบว่าปรับตัวลงมาแล้วกว่า -15% ในรอบ 11 เดือน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก 
และส่วนหนึ่ง คือ นักลงทุนรู้สึกว่า BCPG อาจจะกำไรไม่ดีเหมือนที่ผ่านมา
แต่ถ้าเราพิจารณาอย่างดี จะพบว่า BCPG มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยกับ Adder ที่กำลังหมดไป
ในระยะสั้น อาจจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
แต่สำหรับระยะยาวแล้ว ถือว่าการเติบโตถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
และเป็นหุ้นพื้นฐานดีที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามครับ

------------------------------------------------------------------------------
Reference
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทย

สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผลประกอบการสำคัญ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

isranews.org


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง