ห้องเม่าปีกเหล็ก

รู้จัก Five Forces Model ที่คุณสถาพร งามเรืองพงศ์ ใช้ในการเลือกหุ้น

โดย ทางของเสือ
เผยแพร่ :
1,297 views

รู้จัก Five Forces Model ที่คุณสถาพร งามเรืองพงศ์ ใช้ในการเลือกหุ้น - BillionMoney

 

 

การลงทุนในหุ้น แบบดูปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักนั้น

นอกจากการตรวจสอบงบการเงิน ซึ่งเป็นการตรวจสอบในเชิงปริมาณแล้ว

เรายังต้องตรวจสอบในเชิงคุณภาพ คือต้องทำความเข้าใจในตัวธุรกิจ และอุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นด้วย

มีกลยุทธ์ในการวิเคราะห์ธุรกิจอยู่มากมาย แต่มีอยู่หนึ่งในวิธีการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ที่ทั้งเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักลงทุนชื่อดังอย่าง คุณสถาพร งามเรืองพงศ์ ใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

วิธีนั้นมีชื่อว่า “Five Forces Model”

ถ้าสงสัยว่า Five Forces Model คืออะไร

BillionMoney จะอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ

Five Forces Model สามารถช่วยให้เราวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ถึงคุณภาพของบริษัทนั้น ก่อนที่เราจะนำเงินไปลงทุนได้

โดยกฎทั้ง 5 ข้อ ประกอบไปด้วย

1. การตรวจสอบ Barrier to Entry ของอุตสาหกรรม

Barrier to Entry คือกำแพงที่จะป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งหน้าใหม่ เข้ามาทำธุรกิจแข่งกับบริษัทที่อยู่ในตลาดมาก่อนได้

เราสามารถตรวจสอบได้ โดยสังเกตว่า มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่จะมีบริษัทหน้าใหม่ เข้าไปทำธุรกิจ และสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ไปจากบริษัทที่อยู่มาก่อนได้

โดยอุตสาหกรรมที่มี Barrier to Entry ต่ำ จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งมักจะมีการแข่งขันด้านราคา เพื่อแย่งลูกค้ามาจากอีกฝั่งหนึ่ง

สินค้าในอุตสาหกรรมนี้ จะไม่มีแบรนด์ของสินค้าใดที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เหนือกว่าเจ้าอื่น ๆ

ดังนั้นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มักจะให้ผลตอบแทนทางการลงทุนที่ต่ำมาก เพราะแต่ละบริษัท จะไม่สามารถกำหนดราคาขายสินค้าของตัวเองให้สูงได้ เพราะอาจสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไป

ดังนั้น กฎข้อแรกของ Five Forces Model คือ การมองหาอุตสาหกรรม ที่บริษัทหน้าใหม่ไม่สามารถเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับเจ้าเดิมที่อยู่ในตลาดมาก่อนได้

2. อำนาจในการต่อรองกับลูกค้า

การตรวจสอบว่า แต่ละบริษัทนั้น มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้า มากหรือน้อย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

ถ้าบริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าต่ำ ก็จะเป็นผลเสียต่อบริษัทเอง เพราะบริษัทจะมีศักยภาพในการตั้งราคา เพื่อทำกำไรได้ต่ำ

ในการตรวจสอบว่า บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าหรือไม่นั้น สามารถทำได้ด้วยการดูว่า

- บริษัทมีจำนวนลูกค้ามากหรือน้อย

ถ้าบริษัทมีจำนวนลูกค้าในมือมาก อำนาจในการต่อรองของลูกค้าจะน้อย เพราะบริษัทไม่ต้องง้อลูกค้าเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นพิเศษ

- ความสำคัญของลูกค้าแต่ละราย

ถ้าบริษัทต้องพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ เพียงไม่กี่ราย

ก็จะทำให้อำนาจในการต่อรองของบริษัทมีน้อย

ถ้าบริษัทอยากลดอำนาจในการต่อรองของลูกค้าลง ก็ต้องหาลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของบริษัทให้มากขึ้น

- ความยากง่ายในการหาลูกค้ารายใหม่

ถ้าบริษัทสามารถหาลูกค้าหน้าใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก ก็จะเป็นผลดีกับบริษัท เพราะจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปได้อย่างกว้างขวาง และลดอำนาจในการต่อรองของลูกค้าได้

ดังนั้น กฎข้อที่สองของการใช้ Five Forces Model คือ

การมองหาบริษัท ที่มีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง

3. อำนาจในการต่อรองกับซัปพลายเออร์

นอกจากบริษัทจะต้องมีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้าได้แล้ว บริษัทจะต้องมีศักยภาพในการต่อรองกับทางซัปพลายเออร์ ผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัท ได้อีกด้วย

หากซัปพลายเออร์มีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทน้อยมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ บริษัทมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ

เพราะจะซื้อวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์ ได้ในราคาที่ถูกลง

และบริษัทก็จะสามารถทำธุรกิจ ได้กำไรมากขึ้น

ตามปกติแล้ว บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ที่ต้องสั่งวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์ ในปริมาณมาก จะมีอำนาจในการต่อรองกับทางซัปพลายเออร์สูง

นอกจากนี้ การผลิตในปริมาณมาก จะทำให้บริษัทมี Economies of Scale หรือก็คือบริษัทจะสามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตสินค้า ได้ถูกลง

ดังนั้นจึงสรุปกฎข้อที่สามได้ว่า ให้มองหาบริษัท ที่มีศักยภาพในการต่อรองกับซัปพลายเออร์ และเป็นบริษัท ที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง หรือก็คือมี Economies of Scale

4. สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม

ข้อนี้เป็นการตรวจสอบว่า แต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม

มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นขนาดไหน

โดยดูได้จากสินค้าและบริการของบริษัท ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงมีบริษัทไหนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ และมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น อย่างเห็นได้ชัดหรือไม่

ในสถานการณ์ที่แต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมนั้น มีความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ กัน หรือมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงนั้น

ก็อาจทำให้ กลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทเลือกใช้คือ การแข่งขันกันด้วยการตัดราคา ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างใช้วิธีนี้ ก็จะทำให้อัตรากำไรที่ได้จากการทำธุรกิจ อยู่ในจุดที่ต่ำ

ซึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรม ที่แต่ละบริษัทต่างแข่งขันกันในเรื่องของราคา ก็จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก

ดังนั้น กฎข้อที่สี่ ก็คือ การมองหาบริษัทที่โดดเด่น มีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง มีความแตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ อย่างชัดเจน ในแต่ละอุตสาหกรรม

5. ปัจจัยของสินค้าทดแทน

สินค้าของบริษัททั้งในระยะสั้น และระยะยาว มีโอกาสที่จะโดนสินค้าของบริษัทอื่นมาแทนที่ได้ ดังนั้นก่อนเลือกหุ้น เราควรต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้

- ระดับของการทดแทน

- ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าทดแทน

- ระดับราคาสินค้าทดแทน และคุณสมบัติการใช้งาน

ของสินค้าทดแทน

ดังนั้นกฎข้อสุดท้าย คือ การมองหาบริษัทที่มีสินค้าครองใจลูกค้าอย่างเหนียวแน่น และมีโอกาสน้อย ที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าของคู่แข่ง

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงจะเห็นประโยชน์ของการใช้

Five Forces Model ในการวิเคราะห์ธุรกิจแล้ว

โดยถ้าเราพบบริษัท ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่บริษัทหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้ด้วยยาก และมีอำนาจในการต่อรองทั้งกับลูกค้าและซัปพลายเออร์ได้สูง

อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด และผลิตสินค้า ที่หาสินค้าทดแทนได้ยาก

ก็จะถือว่าเราได้เจอบริษัทที่แข็งแกร่ง เป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรม..

 

 

 


ทางของเสือ