ห้องเม่าปีกเหล็ก

เชฟรอน/ปตท.สผ.จุกอก ใช้แสนล.รื้อถอนแท่นผลิต

โดย Durant
เผยแพร่ :
102 views

เชฟรอน/ปตท.สผ.จุกอก ใช้แสนล.รื้อถอนแท่นผลิต

 

 

เชฟรอน และปตท.สผ.จุกอก ต้องจ่ายกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย หลังหลุมผลิตหมดอายุ และแหล่งเอราวัณและบงกชสิ้นสุดสัมปทานปี 65-66 โดยเชฟรอนรุกทำประชาพิจารณ์ประเมินผลกระทบการรื้อถอนแท่นแล้ว เริ่มดำเนินการในปี 62 เป็นต้นไป ขณะที่ภาครัฐ ส่งทีมสำรวจแท่นไหนคุ้มค่าเก็บไว้เปิดประมูลสัมปทานต่อ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กรมฯได้ประกาศกฎกระทรวง กำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการ ปิโตรเลียม พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นปีนี้นั้น โดยขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างเจรจากับทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(ปตท.สผ.) ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช เพื่อหาข้อสรุปถึงแผนและการวางเงินหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิต ปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 และทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของรัฐ

ทั้งนี้ ตามกฎหมายผู้รับสัมปทานรายเดิม จะต้องรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมภายหลังหมดอายุสัญญา แต่กรมฯอยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะมีแท่นใดที่ผู้รับสัมปทานต้องรื้อบ้าง และมีแท่นใดที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยจะพิจารณาจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมต้องมีไม่ต่ำกว่า 40 % ของแต่ละแท่นผลิต ซึ่งขณะนี้ได้ส่งทีมงานเข้าไปสำรวจแล้ว และอยู่ระหว่างสรุปว่าจะใช้ประโยชน์จากแท่นใดได้บ้างเพื่อที่รัฐจะเก็บไว้ใน การนำมาเป็นทรัพย์สินในการประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในช่วงต้นปีหน้าต่อไป

ขณะเดียวกันจะต้องเจรจาค่ารื้อถอนกับผู้รับสัมปทานรายเดิมด้วย เพราะหากรัฐต้องการใช้แท่นผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวต่อไป จะต้องให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจ่ายเงินเป็นหลักประกันการรื้อถอนในอนาคตไว้ ส่วนหนึ่ง ขณะที่ภาระอีกส่วนจะต้องเป็นของผู้รับสัมปทานรายใหม่ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าแท่นผลิตที่เข้าข่ายจะต้องทำการรื้อถอนในส่วน ของแหล่งเอราวัณมีจำนวน 177 แท่น และเรือ 2 ลำ รวมกับแท่นที่สิ้นสุดการใช้งานอีก 80 แท่น ขณะที่แหล่งบงกชมีจำนวน 54 แท่น และเรือ 1 ลำรวมทั้งหมด 311 แท่น แต่ทั้งนี้กรมฯจะต้องสรุปตัวเลขอีกครั้งว่าสุดท้ายแล้วจะต้องรื้อถอนกี่แท่น เพื่อให้ทางเชฟรอนและ ปตท.สผ. ไปจัดทำแผนรวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนมาเสนอกรม ในช่วงปลายปีนี้ด้วย เพื่อที่จะได้นำเรื่องเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียม พิจารณาเลือกวิธีการรื้อถอน รวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ในการรื้อถอน

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้รับสัมปทานทั้ง 2 ราย จะต้องใช้ในการรื้อถอนนั้น ในแต่ละแท่นอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนมีความ เหมาะสมในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ ซึ่งหากเป็นวิธีตัดแท่นผลิตและล้มแท่นเพื่อทำเป็นปะการัง ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงเมื่อเทียบกับที่ต้องลากแท่นกลับไปทำลายบนฝั่ง ซึ่งในส่วนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนนี้ ทางกรมฯจะให้บุคคลที่ 3 เข้ามาประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละวิธีอีกครั้ง เพื่อที่จะให้ผู้รับสัมปทานทั้ง 2 ราย วางเงินเป็นหลักปะกันการรื้อถอนไว้ในอนาคต หากรัฐต้องการแท่นที่ยังมีศักยภาพผลิตเอาไว้ต่อไป และกรมฯจะนำไปใช้กำหนดร่างหลักเกณฑ์การเปิดประมูล (ทีโออาร์) สำหรับแหล่งสัมปทาน 2 แหล่งที่จะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2559 และคาดว่าจะสามารถประกาศเปิดประมูลได้ภายในเดือนมีนาคม 2560

“ตามกฎหมายแล้ว หากรัฐไม่เข้าไปเจรจาเพื่อใช้แท่นต่อไป ทางผู้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนทั้งหมดอยู่แล้วภายหลังปี 2565-2566 ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างสรุปว่าจะใช้แท่นใดได้บ้าง โดยดูจากปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ จะต้องคุ้มค่าหรือมีปริมาณสำรองไม่ต่ำกว่า 40 % และให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่รับภาระด้วยส่วนหนึ่ง ขณะที่แปลงสัมปทานในแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งมีอยู่ 7 แปลง กรมฯจะมาพิจารณาดูว่าจะจัดสรรการประมูลใหม่อย่างไร ซึ่งอาจจะนำมารวมกัน หรือแบ่งย่อยได้อีก”นายวีระศักดิ์ กล่าว

ด้านนายวิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ ผู้อำนวยการกองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการปิโตรเลียม กล่าวว่า จากประสบการณ์การรื้อถอนแท่นผลิตของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับอ่าวไทย เมื่อช่วง 4-5 ปีก่อน โดยใช้วิธีการตัดแท่นผลิตและขนลากไปทำลายบนฝั่ง จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 175-210 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) แต่ขณะนี้พบว่าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและความยากที่เกิดขึ้นทำให้ค่าใช้จ่าย น่าจะขยับขึ้นมาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350 ล้านบาท ซึ่งหากจำนวนแท่นผลิตที่จะต้องรื้อถอนจากแหล่งสัมปทานหมดอายุกว่า 311 แท่น โดยแบ่งเป็นในส่วนแท่นผลิตของบริษัท เชฟรอนที่จะต้องรื้อถอน 257 แท่น และปตท.สผ. 54 แท่น คงใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่หากเลือกใช้วิธีตัดแท่นและล้อมทำเป็นปะการังเทียมค่าใช้จ่ายอาจจะลดลงมา ครึ่งหนึ่ง แต่วิธีนี้คงเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด เพราะจะต้องเลือกบางแท่นเท่านั้นที่จะไปทำปะการังเทียมประกอบกับจะต้องได้ รับความเห็นชอบจากกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมงด้วย จึงจะดำเนินการได้

นายสุขสรรพ์ จินะณรงค์ วิศวะกรสิ่งแวดล้อม บริษัท เตตร้า เทค อิงค์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ในการจัดทำรายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนแท่นหลุมผลิต ปิโตรเลียมทั้งหมดของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดในอ่าวไทย รวมถึงท่อส่งปิโตรเลียมในทะเลที่เชื่อมต่อกับแท่นหลุมผลิตว่า ที่ผ่านมาทางเชฟรอนได้ทยอยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนก่อนที่จะ ดำเนินการรื้อถอนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี ในจำนวนแท่นที่มีอยู่ 278 แท่น ท่อขนส่งใต้ทะเล จำนวน 264 แนว และโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อต่อท่อขนส่งใต้ทะเลจำนวน 80 ชิ้น ซึ่งอยู่ในบริเวณอ่าวไทยทั้งหมด

โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น จะครอบคลุมถึงวิธีการหรือขั้นตอนการรื้อถอนแท่นว่าจะใช้รูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบการรื้อถอนแท่นออกทั้งหมด ไปทำลายบนฝั่ง การปล่อยไว้ที่เดิมเพื่อใช้เป็นปะการังเทียม เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงมาตรการดูแลด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาตั้งแต่การเตรียมและการล้าง ทำความสะอาดส่วนบนของแท่นหลุมผลิต และท่อขนส่งใต้ทะเล ไปจนถึงการสำรวจพื้นที่ดำเนินการภายหลังการรื้อถอน ตลอดจนการจัดการตะกอนพื้นที่ท้องทะเล ซึ่งจะนำผลการรับฟังความคิดเห็นนี้ไปจัดทำแผนการดำเนินงานรื้อถอน เพื่อเสนอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้อนุมัติว่าจะให้เลือกใช้การรื้อถอนในรูปแบบใดที่จะมีผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อมน้อยที่สุด โดยคาดว่าจะเสนอแผนได้ในช่วงปลายปีนี้ และน่าจะอนุมัติได้ในปีหน้า

ทั้งนี้ หากแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ในช่วงแรกจะเป็นการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตที่จะสิ้นสุดการผลิตหรือหมดอายุการ ใช้งานระหว่างปี 2559-2565 มีจำนวน 80 แท่น และท่อขนส่งใต้ทะเลรวมถึงโครงสร้างที่เชื่อมต่อกับแท่นหลุมผลิต ในแปลงสัมปทานหมายเลข 9A, 10, 10A, 11, 11A, 12, 13 ,B8/32, B 12/27 , G4/43 และ G4/48 ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการรื้อถอนได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จำนวนปีละ 5-25 แท่น โดยในเวลาประมาณ 5 ปี แต่อาจจะดำเนินการรื้อถอนได้สูงสุดถึงปีละ 40 แท่น โดยรวมถึงแท่นผลิตของแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 ด้วย ซึ่งในส่วนของปตท.สผ.ก็เข้าใจว่าได้เริ่มดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น แล้วเช่นกัน

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 – 17 กันยายน พ.ศ. 2559

 


Durant