ห้องเม่าปีกเหล็ก

ย้อนอดีต PTT กับวิกฤตราคาน้ำมันปี 2015

โดย หญิงแม้น
เผยแพร่ :
48 views

ย้อนอดีต PTT กับวิกฤตราคาน้ำมันปี 2015


 

ย้อนอดีต PTT กับวิกฤตราคาน้ำมันปี 2015

  น้ำมัน ทองคำสีดำที่เราอาจเชื่อเสมอว่ามีแต่ขึ้น ไม่มีลง เพราะน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่แทบทุกคนบนโลกใบนี้ต้องใช้ ตื่นเช้ามาก็ต้องขับรถไปทำงาน ภาคธุรกิจก็ต้องใช้น้ำมันในการผลิต หรือถ้าจะเอาให้ละเอียดกว่านั้นอีก พลาสติกหลายๆ อย่างรอบตัวเราก็ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากน้ำมันทั้งสิ้น

  เมื่อใครๆ ก็ต้องใช้น้ำมัน ตามหลักอุปสงค์อุปทานแบบเบื้องต้นที่สุด สิ่งใดก็ตามที่มีคนต้องการย่อมเพิ่มขึ้น ย่อมจะมีราคาสูงขึ้นเสมอ

  แต่เมื่อปี 2015 เราอาจต้องคิดเสียใหม่ว่าทองคำสีดำนี้เป็นสิ่งที่มีแต่คนต้องการ เพราะในช่วงเวลานั้น ราคาน้ำมันที่เคยอยู่ระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กลับมีราคาลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 30 เหรียญต่อบาร์เรลในระยะเวลาปีกว่าๆ ล้างทุกความเชื่อที่เราเคยมีเกี่ยวกับน้ำมันไปอย่างสิ้นเชิง

และน้ำมันที่ดิ่งลงอย่างหนักครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยตัวหนึ่งมีกำไรหายไปนับหมื่นล้าน แถมราคาหุ้นยังร่วงลงไปกว่า 50% แบบแทบไม่มีใครเชื่อสายตาว่ามันเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย นั่นคือหุ้นปตท.

      แม้น้ำมันจะเป็นของเหลว แต่แหล่งที่มาของน้ำมัน ไม่ได้มาจากการขุดเจาะแล้วเจอน้ำมันที่อยู่ในบ่อเพียงอย่างเดียว มันยังแบ่งได้เป็นสองแบบตามลักษณะที่พบ คือน้ำมันตามปกติ และน้ำมันที่แทรกตัวอยู่ตามชั้นหินดินดาน หรือเรียกอีกอย่างว่า shale oil

  แค่อ่านผ่านๆ ก็น่าจะพอรู้ได้ว่า shale oil คงผลิตน้ำมันได้ยากกว่าและมีต้นทุนสูงกว่ามาก เพราะน้ำมันนั้นฝังอยู่ในหิน ไม่ได้เป็นของเหลวให้ดูดจ๊วบๆ ออกมาใช้ง่ายๆ มันต้องผ่านกรรมวิธีอีกมากกว่าจะสกัดได้น้ำมันแต่ละหยด ยิ่งมีขั้นตอนมากขึ้น ต้นทุนก็ยิ่งสูงมากขึ้น


ถ้าน้ำมันที่เป็นของเหลว ผู้ผลิตหลักของโลกก็คือกลุ่ม OPEC ในตะวันออกกลาง ส่วนน้ำมันที่เป็นของแข็ง ผู้ผลิตหลักคือสหรัฐอเมริกา

  การหาน้ำมันจาก shale oil อาจยากกว่าการหาน้ำมันแบบดูดจ๊วบๆ ตามปกติ แต่อเมริกาก็คงไม่ได้อิจฉากลุ่ม OPEC มากนัก เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่อยู่สูงกว่า 100 เหรียญในปี 2014 ทุกคนยังแฮปปี้และทำเงินได้ อเมริกาอาจดูดน้ำมันได้ยากกว่ากลุ่ม OPEC ที่ดูดขึ้นมาง่ายราวกับสเลอปี้ แต่ก็ช่างประไร เรายังคุยกันได้เสมอตราบใดที่ยังมีกำไรอยู่

  ปัญหาก็คือ ต่อให้เป็นน้ำมันก็เถอะ มันก็มีช่วงที่ธุรกิจเป็นขาลงได้

      ทุกคนอาจจำเป็นต้องใช้น้ำมัน แต่คนที่บริโภคน้ำมันเยอะที่สุดในช่วงเวลานั้นก็คือประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเยอะที่สุด เรากำลังพูดถึงประเทศจีน มังกรติดปีกที่เศรษฐกิจติดลมในระดับเลขสองหลัก

  อยู่มาวันหนึ่ง เศรษฐกิจของจีนเริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลงจนเหลือเพียงเลขหลักเดียว สงสัยมังกรคงเหนื่อย

  เมื่อประเทศที่บริโภคน้ำมันเยอะที่สุดมีเศรษฐกิจชะลอตัว การใช้น้ำมันก็ค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย และพอเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ชะลอตัว ประเทศอื่นที่ทำมาค้าขายด้วยก็ย่อมโตช้าลง ยิ่งทำให้การใช้น้ำมันน้อยลงไปอีก หรือเรียกแบบเท่ๆ ว่า อุปสงค์ในน้ำมันกำลังลดลง

      ในสถานการณ์ปกติ กลุ่ม OPEC ที่เปรียบได้กับพี่ใหญ่ผู้คุมยอดขายน้ำมันกว่า 40% ของทั้งโลก จะคอยปรับลดหรือเพิ่มกำลังการผลิตต่อวันเพื่อสร้างสมดุลให้กับราคาน้ำมันทั่วโลก ไม่ให้มีราคาแพงหรือถูกจนเกินไป ซึ่งช่วงเวลาแบบนี้ OPEC ก็ควรจะปรับลดกำลังการผลิตเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดิ่งหนัก หรือเรียกแบบเท่ๆ ว่าการลดอุปทานน้ำมันให้ต่ำลง

  แต่ครั้งนี้ OPEC ไม่ได้ปรับลดกำลังการผลิต พวกเขายังคงดูดสเลอปีขึ้นมาเรื่อยๆ วันละกว่า 30 ล้านบาร์เรล หลายคนมองว่าการที่ OPEC ไม่ได้ลดการผลิตน้ำมันเหมือนที่เคยทำในอดีตนั้นอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ บ้างก็ว่ามาจากการเมือง บ้างก็ว่าอยากดัมพ์ตลาดจนผู้ผลิต shale oil อยู่ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การตัดสินใจของพวกเขาส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 30 เหรียญ และยังทำให้หุ้น PTT ดิ่งลงกว่า 50% ทั้งที่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก

      อาจมีคนนับล้านดีใจที่ราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ไม่ใช่สำหรับปตท. ซึ่งทำธุรกิจน้ำมันแน่ๆ ราคาที่ถูกลงอาจทำให้คนใช้น้ำมันมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนการกลั่นหรือการบริหารต่างๆ จะลดลงตามราคาน้ำมันไปด้วย เมื่อราคาขายร่วงแต่ต้นทุนยังเท่าเดิม ผลลัพธ์ของธุรกิจนั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากกำไรที่ลดลง หรือขั้นเลวร้ายกว่าคือขาดทุน

  อย่างน้อยปตท. ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะงบการเงินในปี 2015 ออกมาว่าบริษัทมีกำไรประมาณ 19,000 ล้านบาท แต่ก็ยังน้อยกว่ากำไรกว่า 5 หมื่นล้านในปีก่อนอยู่ดี นักลงทุนในตลาดอาจจะไม่มีญาณวิเศษรู้ผลกำไรของ PTT ในอนาคต แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าราคาน้ำมันที่ลดลงย่อมกระทบต่อผลกำไรของบริษัทไม่มากก็น้อย จึงเป็นเหตุให้หุ้นถูกเทขายจนราคาร่วงจาก 400 บาทมาเหลือเพียง 200 บาท และยังพาให้ดัชนีดิ่งลงไปอีก 25% ภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียว

  เฉกเช่นวิกฤตทุกครั้ง วิกฤตราคาน้ำมันขนาดย่อมครั้งนี้กลายเป็นโอกาสให้นักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้น PTT ในราคาที่ถูกมาก เพราะต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วราคาน้ำมันที่ตกต่ำก็จะดึงดูดให้คนหันมาใช้น้ำมันมากขึ้นเหมือนเดิม เราอาจมีพลังงานมากมายหลายแบบ แต่น้ำมันก็ยังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ทุกคนต้องใช้ ซึ่งหลังจากนั้นสักพักหุ้นของ PTT ก็กลับมาทำจุดสูงสุดใหม่และวิ่งไปที่จุดสูงสุดตลอดกาลถึง 600 บาทเลยทีเดียว (ราคาปรับการแตกหุ้นแล้ว)

  บทเรียนครั้งนี้คือ ถึงแม้ข่าวสารต่างๆ ที่เรารับรู้จะน่ากลัวเพียงใด หรืออนาคตของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะดูเป็นสีดำสนิทยิ่งกว่าน้ำมันดิบแค่ไหน มันย่อมมีวันคลี่คลายได้ และวันที่ทุกคนกำลังกลัวนั่นเองคือโอกาสแก่นักลงทุนผู้กล้าเสมอ

 

 

 ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


หญิงแม้น