'AOT' สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า ผิดหวัง 'ดิลตี้ฟรี ดอนเมือง' ฉุดหุ้นรูด
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหุ้นแห่งทศวรรษของตลาดหุ้นไทยก็ว่าได้ ด้วยผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นเฉียด 2,000% หรือประมาณ 20 เท่าตัว
ราคาหุ้นวิ่งจาก 3.9 บาท ณ สิ้นปี 2552 (ราคาหุ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงพาร์) มาทำสถิติสูงสุดที่ 81.75 บาท เมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
จุดแข็งของ AOT คือ การเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวสำหรับ 2 สนามบินหลักของประเทศอย่าง สุวรรณภูมิ และดอนเมือง รวมทั้งสนามบินเมืองรองอีก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่
ขณะที่ผลประกอบการของ AOT ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็เติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากรายได้รวม 2.39 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 717.26 ล้านบาท ในปี 2552 ปัจจุบันขยับขึ้นมามีรายได้รวม 6.49 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.50 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิล่าสุด งวดปี 2561/2562 นับเป็นการหดตัวปีแรกในรอบ 5 ปี ของ AOT โดยลดลง 0.6% ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของกำไรสุทธิ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
สาเหตุสำคัญมาจาก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นราว 1.2 พันล้านบาท และการเติบโตชะลอตัวของผู้โดยสารรวมที่เพิ่มขึ้น 1.69% เทียบกับปีก่อนที่โต 7.99%
แม้ผลประกอบการจะไม่ได้เติบโตโดดเด่นอย่างในอดีต แต่จะเห็นว่าราคาหุ้น AOT ตลอดทั้งปีนี้ยังคงปรับตัวขึ้นได้กว่า 20% เด่นกว่าดัชนี SET ที่ร่วงกลับลงมาทรงตัวจากปีก่อน
แรงหนุนสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น AOT ยังคงเดินหน้าบวกขึ้นไปต่อเนื่อง เพราะความคาดหวังกับการเติบโตในอนาคตของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของการประมูลสัมปทาน Duty Free รอบใหม่ ที่คาดว่าจะหนุนให้รายได้ของ AOT เพิ่มขึ้น
โครงสร้างรายได้ของ AOT ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน คิดเป็นสัดส่วน 56% แบ่งเป็นค่าบริการสนามบิน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก
อีกส่วนหนึ่งคือ รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน สัดส่วน 44% แบ่งเป็น ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ รายได้บริการ และรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งรายได้ส่วนมากจากสัมปทาน Duty Free จะอยู่ในส่วนนี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 27% ของรายได้ทั้งหมด
ล่าสุด บอร์ดของ AOT ได้อนุมัติให้ King Power ชนะการประมูล Duty Free ของสนามบินดอนเมือง โดยได้สัมปทาน 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ปี 2565 – 31 มี.ค. ปี 2576 โดยที่มีการการันตีรายได้ขั้นต่ำที่ 1.5 พันล้านบาทต่อปี พร้อมส่วนแบ่งรายได้ที่ 20%
ราคาหุ้นของ AOT ตอบรับในเชิงลบทันทีต่อรายละเอียดสัมปทานรอบใหม่ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดโดยภาพรวม
บล.ทิสโก้ ระบุว่า รายได้การันตีขั้นต่ำ ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ที่ 4 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการแบ่งรายได้ที่ 20% มากกว่าที่คาดไว้ที่ 15% โดยรวมค่อนข้างแปลกใจที่การการันตีรายได้ขั้นต่ำลดลงจากปัจจุบันที่ 2.397 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่ดอนเมืองจะมีการขยายสนามบินในเฟสที่ 3
จากการการันตีรายได้ขั้นต่ำที่ต่ำกว่าคาดนี้ ทำให้เราปรับมูลค่าที่เหมาะสมลง 1.60 บาท เหลือ 80.40 บาท
ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ตัวเลขที่ประกาศออกมานี้ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์โดยเฉลี่ย (consensus) คาดการณ์เอาไว้ว่าการการันตีขั้นต่ำในปีแรกจะสูงถึง 5-6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประมาณการไว้สูง เนื่องจากมีการประเมินรายได้ดิวตี้ฟรีดอนเมืองในปี 2562 คลาดเคลื่อนเป็น 2.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวมรายได้จากจุดรับสินค้า หากคิดเฉพาะรายได้จากดิวตี้ฟรีจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาท
ดังนั้น เราประเมินจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิช่วงเดือน ต.ค. 2565 ถึงเดือน ก.ย. 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 1% และจะหนุนให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.16 - 0.54 บาท เท่านั้น ซึ่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด จึงไม่ได้นำมารวมในการประเมินมูลค่า ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และราคาเป้าหมายที่ 88 บาท
นอกจากนี้ AOT ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากความเสี่ยงที่ค้างมาจากก่อนหน้านี้
โดยราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาลดลง 8-9% เพราะ AOT อาจต้องแบ่งรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออกไม่เกิน 10% เข้ากองทุนฯ ของกรมท่าอากศยาน โดยปัจจุบันยังต้องรอกฤษฎีกาตีความ คาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ยังกดดันราคาหุ้นจนกว่าจะมีความชัดเจน
สุดท้ายแล้วหากต้องแบ่งรายได้จริง คาดว่าจะกระทบต่อมูลค่าหุ้น สูงสุดไม่เกิน 5 บาท ทำให้ราคาเป้าหมายลดลงเป็น 83 บาท
ส่วน IAA Consensus ประเมินกรอบราคาเป้าหมายไว้ที่ 72 - 90 บาท
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก