ทิศทางการลดงบดุล และการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในปี 2566 :
By ทิวัตถ์ ชุติภัทร์ | คุยให้.... “คิด”29 ธ.ค. 2565 เวลา 11:01 น.
เมื่อช่วงประมาณปลายปี 2564 ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ออกมาประกาศว่าจะเริ่มลดการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล และจะหยุดซื้อในช่วงเดือนมีนาคม 2565 และหลังจากนั้นทางธนาคารกลางจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดของงบดุลของธนาคารกลางลง
ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ FED จะเริ่มลดงบดุลของธนาคาร ตั้งแต่ช่วงกันยายนจนถึง ณ ตอนนั้น งบดุลของ FED บวกขึ้นมาจากเดิมประมาณ 2.5 เท่าตัว จาก 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ มาเป็น 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการพิมพ์เงินครั้งที่ใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์สหรัฐ
อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของดอกเบี้ย FED เริ่มประกาศขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงมีนาคม จนถึงตอนนี้ FED ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันมาแล้ว 7 ครั้งโดยมีถึง 4 ครั้งที่ขึ้นทีเดียวร้อยละ 0.75 ทำให้ดอกเบี้ยตอนนี้ขึ้นไปแตะที่ระดับร้อยละ 4.25 ถึง 4.50
ทำให้ดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 15 ปี ซึ่งสูงพอๆ กับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เลย บทความนี้จะเจาะลึก และวิเคราะห์สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำต่อไปในแง่ทั้งการลดงบดุล และดอกเบี้ยในปี 2566 นี้
เราเริ่มจากการลดงบดุลกันก่อน ตอนนี้การลดงบดุลของ FED ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 8.965 ล้านล้านดอลลาร์ ตอนช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็น 8.564 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา หรือประมาณ 400,000 ล้านดอลลาร์ ที่หายไป ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ปัญหาของธนาคารกลางที่หลายๆ คนไม่ทราบคือ งบดุลของธนาคารกลางห้ามต่ำกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะว่าหนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารกลางอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นแล้ว FED สามารถลดงบดุลได้อีกแค่ 500,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น
ซึ่งจากการคาดการณ์ นั้นหมายความว่าการลดงบดุลของธนาคารกลางจะสิ้นสุดภายในช่วงประมาณกรกฎาคมปี 2566 เหตุผลที่ธนาคารกลางไม่สามารถลดได้ต่ำกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะ 3 เหตุผลหลัก
ข้อที่หนึ่ง ปริมาณสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้าไม่มีการเผาเงิน หรือการเอาเงินออกจากระบบจริงก็ยังไม่สามารถลดได้
ข้อที่สอง คือ การทำ Reverse Repo หรือ Repurchase Agreement โดย FED จะทำการซื้อพันธบัตรในตลาดเพื่อเป็นการเพิ่มเงินสด และสภาพคล่องให้กับธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ ในทางกลับกันจะทำสัญญาเพื่อเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ
โดยที่ FED นั้นจะทำการขายพันธบัตรคืนกลับสู่ตลาดทำให้เงินสดในตลาดนั้นถูกดึงออกมาชั่วคราว ซึ่งตอนนี้เม็ดเงินตรงนี้อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เหมือนกัน
ข้อที่สาม คือ เงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ ก่อนหน้าวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ไม่เคยมีการฝากเงินสำรองส่วนเกินก่อนธนาคารพาณิชย์มาก่อน เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ทุกที่ต้องการหาอัตราตอบแทนในการลงทุนจากทั่วโลก
จนกระทั่งหลังวิกฤติที่เริ่มมีการฝากเงินสำรองส่วนเกินเกิดขึ้นจากความกลัว และกฏเกณฑ์ต่างๆ ตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์
เมื่อรวมสามตัวเลขนี้เข้าด้วยกันจะอยู่ที่ 7.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกอีก 700,000 ล้านดอลลาร์ จากที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฝากเอาไว้ทำให้ตัวเลขนี้กลายเป็น 8 ล้านล้านดอลลาร์พอดี
ในส่วนของดอกเบี้ยสหรัฐ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมาได้มีการประกาศตัวเลข CPI หรือตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐปรากฏว่านักลงทุน และนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.3
แต่ตัวเลขที่ออกมานั้นต่ำกว่าที่คาดเพียงแค่ร้อยละ 7.1 เท่านั้น ทำให้นักลงทุนพากันดีใจเพราะว่ามันต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และพวกเขามองว่า FED อาจจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวหรือขึ้นน้อยกว่าที่คาด
แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น FED ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อที่ระดับร้อยละ 0.50 และ เจอโรม พาวเวล ประธาน ยังบอกกับผู้สื่อข่าวอีกว่าจะขึ้นต่อจนไปถึงปี 2566 และยังคงดอกเบี้ยไว้สูงจนกว่าเงินเฟ้อจะลงต่ำกว่านี้ โดยเป้าของ FED ก็ยังเหมือนเดิมที่ร้อยละ 2 พอหลังจากการประกาศครั้งนี้ ทำให้ตลาดหุ้น และคริปโทฯ ต่างพากันลง
เจอโรมพูดกับผู้สื่อข่าวอีกว่าเขาคิดว่าในปีหน้า และปีถัดไปนี้เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 0.5 เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ถือน่ากลัวกับการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก จากการพูดกับผู้สื่อข่าวนั้นก็ได้มีการรายงานตัวเลขที่สมาชิกของ FED มองว่าดอกเบี้ยจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ร้อยละ 5 ซะส่วนใหญ่
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมได้พบเจอคนที่โดนผลกระทบจากเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และการลดงบดุลพอสมควร เรียกว่าแทบจะทุกชนชั้น ชนชั้นรากหญ้าก็โดนผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักพอสมควร ซึ่งก็สามารถมองเห็นได้จากซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เล็กลง และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็กระทบคนชนชั้นกลาง และชนชั้นบน
ซึ่งราคาหุ้นเองก็ลดลงแทบจะทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ คริปโทฯ หุ้นเทค จนไปถึงหุ้นวัคซีนที่ขึ้นมาช่วงโควิดที่ผ่านมา แม้แต่หลายๆ ประเทศทั่วโลกหรือแม้แต่ประเทศที่เป็นหนึ่งในต้นๆ ของโลกอย่าง ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษก็โดนผลกระทบนี้
ผมยังคงมองว่าพวกทรัพย์สินเสี่ยงทั้งหลาย ทั้งตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน หุ้นเทค และคริปโทฯ จะกลับมาได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ย และกลับมาพิมพ์เงินอีกครั้ง
ทรัพย์สินเหล่านี้จึงจะกลับมาซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นช่วงไหน ผมเคยพูดกับเพื่อนๆ และลูกศิษย์ว่าเผลอๆ ตอนนี้คนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก กลับไม่น่าใช่ประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่เป็นนายเจอโรม พาวเวล มากกว่า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
หมายเหตุ : ที่มาจากกรุงเทพธุรกิจ