#finance รากเหง้าเงินเฟ้อ

.
.
เย็นวันนี้ผมพาเพื่อนรักที่มาจากเชียงใหม่ ไปกินข้าวที่ร้านอาหารแถวบ้าน หลังจากกินเสร็จ ผมดูใบเสร็จ พร้อมกับอุทานออกมาเป็นภาษาคังคุไบเพราะราคาอาหารแพงมาก 3,262 บาท
.
.
ผมตรวจดูรายการอาหารทุกอย่างตรงกับที่ผมสั่ง ที่มันน่าตกใจคือ ทุกรายการผมสั่งเหมือนที่เคยมาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และตอนนั้นราคารวมมันประมาณ 2,600 บาท
.
.
ราคาพุ่ง 23% ภายในเวลา 3 เดือน
.
.
ราคาอาหาร และทุกสิ่งทุกอย่างที่มันแพงขึ้นมาในตอนนี้ มันเพราะอะไรกันแน่
.
.
บางคนบอกว่า เพราะ รัสเซีย-ยูเครน บางคนบอกเพราะน้ำมัน บางคนบอกเพราะจีนล็อกดาวน์ ทำให้เกิดปัญหาคอขวดอุปทาน (supply bottleneck)
.
.
ทุกคำตอบข้างต้น ถูกต้องที่เป็นตัวทำให้เกิดเฟ้อ แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
.
.
รากเหง้าของปัญหารอบนี้จริงๆแล้ว มันมาจาก ธนาคารกลางหลักๆของโลก โดยเฉพาะ Fed
.
.
ผมขออธิบายโดยอิงกับ Demand และ Supply แบบคนไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์แต่จบวิศวะตรีและโท นะครับ
.
.
เริ่มต้น ตอนที่เกิด COVID19 แล้วเกิดการแพร่ระบาด มันทำให้ความต้องการหรือ Demand มันหายไปแบบฉับพลัน จากความกลัวจนทำให้คนอยู่แต่ในบ้าน รวมไปถึงมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป
.
.
พอ Demand หายไป ฝั่งอุปทานก็ต้องหายตาม ภาคการบริการพัง ภาคการผลิต ผลิตได้น้อยลงจากการล็อกดาวน์ ภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุนเพิ่ม
.
.
ทีนี้ Fed แก้ปัญหาด้วยการ ลดดอกเบี้ยรวดเดียว จาก 1.75% สู่ 0.25% ในการประชุมฉุกเฉิน 2 ครั้ง (ภายในเวลา 2 สัปดาห์) พร้อมกับประกาศ QE (พิมพ์แบงค์) เข้าซื้อ Treasury และ MBS แบบไม่อั้น
.
.
งบดุล Fed จากระดับ 3.8 ล้านล้านเหรียญใน มี.ค.63 กลายเป็น 6.5 ล้านล้านเหรียญ ใน พ.ค.63 หรือเพิ่มขึ้น 70% ในเวลาเพียง 2 เดือน ก่อนที่จะขยายตัวต่อเนื่องจนกลายมาเป็น 8.8 ล้านล้านเหรียญ ในปัจจุบัน
.
.
การพิมพ์แบงค์ พร้อมกดดอกเบี้ยต่ำติด 0 ก็ไม่ต่างกับการพิมพ์เงินยัดใส่มือประชาชน และนอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐ ยังคลอดสารพัดโปรแกรมในการโปรยเงินใส่มือประชาชนรวมทุกมาตรการไม่น้อยไปกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ
.
.
จนทำให้ปริมาณเงินในระบบมันพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดูได้จาก M2 ตอนก่อนเกิด COVID ยังอยู่ที่ 15 ล้านล้านเหรียญ แต่ตอนนี้มันกลายเป็น 22 ล้านล้านเหรียญ
.
.
แปลว่าปริมาณเงินกว่า 46% ของสหรัฐมันเพิ่งเกิดขึ้นมาใน 2 ปีกว่าๆนี้เอง
.
.
แบบนี้จะไม่ให้เงินมันเฟ้อได้ไง
.
.
การปั๊มชีพจรเศรษฐกิจแบบหนักมือ (มือเติบแบบนี้) Demand มันถึงได้ฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
.
.
แต่ปัญหาคือ Supply มันตาม Demand ขึ้นมาไม่ทัน เพราะแต่ละประเทศมีนโยบายการคุม COVID แตกต่างกัน เช่น ช่วงกลางปี 2564 สหรัฐและยุโรปเปิดประเทศ แต่หลายประเทศในเอเชีย รวม ไทย ประกาศล็อกดาวน์
.
.
Demand มันจึงยิ่งฉีกห่างออกจาก Supply เงินเฟ้อมันถึงได้เร่งตัว
.
.
เอาจริงๆเงินเฟ้อมันมาตั้งแต่ต้นปี 2564 แล้ว เห็นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพวกโลหะมีค่ามันพุ่งกระฉูดทะลุเพดานกันเป็นว่าเล่น
.
.
และความที่เงินมันสะพัดมาก (จากการอัดเงินของ Fed) บรรดาพวกสินทรัพย์เสี่ยง มันถึงได้ขึ้นกันเป็นสิบๆเท่า
.
.
ดังนั้นปัญหาเงินเฟ้อรอบนี้ ขอได้โปรดทำความเข้าใจกันใหม่ด้วยว่า ไม่ใช่เพราะเรื่อง supply bottleneck เหมือนอย่างที่ Fed หรือใครๆบอกออกมา แต่มันเป็นเพราะตัว Fed ล้วนๆ
.
.
ไม่งั้น เราจะไม่ได้เห็นการออกมาสารภาพของ เจเน็ต เยลเลน (รมต.คลังสหรัฐ และอดีตประธาน Fed) ว่าเธอมองเงินเฟ้อผิดพลาด เพราะเธอเชื่อว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากปัญหา Supply Shortage จะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว
.
.
เธอไม่ยอมพูดว่า ที่ปัญหาเงินเฟ้อมั้นรุนแรงทุกวันนี้เพราะเกิดจาก Fed และรัฐบาลสหรัฐ
.
.
ถ้ายังจำกันได้ ก็เป็นเยลเลนเนี่ยแหละที่เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติงบเยียวยาคนได้รับผลกระทบโควิด โดยทิ้งวลีเด็ดว่า "ทำไปก่อน ใส่เงินไปก่อน มันจะดีกว่าการไม่ทำอะไรแน่นอน"
.
.
ก่อนหน้านี้ประธาน Fed สาขาเซ็นหลุยส์ซอย 3 อย่าง เจมส์ บูลลาร์ด และคู่หู แพทริก ฮาร์เกอร์ ออกมาเตือนเสมอว่า Fed กำลังทำให้สิ่งที่เกินความจำเป็น (QE ไม่หยุดยั้ง)
.
.
เพราะฉะนั้นการกลับลำของ Fed ในการขึ้นดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุล มันจึงไม่ใช่การแก้ผิดที่ และไม่ใช่เป็นการแก้สิ่งที่เรียกว่า Inflation expectation
.
.
มันไม่ต้องไปมองเงินเฟ้อในอนาคต เอาแค่เงินเฟ้อตรงหน้าก็จะตายกันหมดอยู่แล้ว
.
.
Fed สร้างความต้องการส่วนเกินขึ้นมา ก็ต้องเป็นคนกดมันลงไป
.
.
สิ่งที่ Fed กำลังทำตอนนี้คือแก้ปมที่ตัวเองเป็นคนผูกไว้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำในสิ่งที่ควรทำ (ควรทำมาตั้งนานแล้ว) แต่ก็ยังมีเรื่องผิดพลาดอยู่เหมือนเดิมคือ "ยังชักช้า"
.
.
ขึ้นดอกเบี้ยช้า ลดขนาดงบดุลช้า และทำ Reverse Repo ช้า กว่าที่ควรจะต้องทำ
.
.
ขนาด เบน เบอนันเกอร์ อดีตประธาน Fed ก็ยังออกมาตำหนิว่า “แก้ปัญหา ช้าเกินไป”
.
.
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย Fed จะกดให้เงินเฟ้อมันลงไปแน่นิ่งที่เป้าหมาย ส่วนสภาพคล่องของโลกจะวายป่วนขนาดไหน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ Fed จะสนใจในตอนนี้ เหมือนดั่งเช่นตอนทำ QE Fed ก็ไม่ได้สนใจว่าจะทำให้โลกวุ่นวายขนาดไหน
.
.
เพราะเป้าหมายใหญ่คือให้ สหรัฐ พ้นเงินเฟ้อ ไม่ใช่ให้โลกพ้นเงินเฟ้อ
.
.
และถ้าติดตามท่าทีของประธาน Fed คนปัจจุบันอย่างเจโรม พาวเวล บอกได้เลย ขานี้ ไม่ใช่คนที่มาก่อนกาล ตรงกันข้ามคือมักจะมาตามหลังกาล (ชักช้าและเปลี่ยนท่าทีง่าย)
.
.
โอกาสที่ Fed ขึ้นดอก ทำ QT เพื่อการเพิ่มกระสุนให้ตัวเอง และเตรียมกลับมาทำ QE ในอนาคต กลไกนี้มันเกิดขึ้นแน่ๆอยู่แล้ว หากเศรษฐกิจมันตกต่ำมากๆ แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของเงินเฟ้อต่ำด้วย
.
.
ซึ่งมันไม่ใช่ในตอนนี้ ที่ Stagflation มันชัดเจนซะขนาดนี้ ภารกิจหลักจึงต้องจัดการเงินเฟ้อ ไม่ใช่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ
.
.
เหมือนอย่างที่ เจเรมี แกรนทัม หนึ่งในสุดยอด Value Investor บอกเอาไว้ว่า มันหมดยุดของ Goldilocks Economy แล้ว (ยุคที่เศรษฐกิจหดตัวก็สามารถกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินผ่อนคลายง่ายๆ และใช้นโยบายการเงินตึงตัวสกัดเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไป)
.
.
Fed จะไม่เล่นท่าง่ายแบบเดิม และอาจโหดกว่าที่เราเคยเจอใน 10ปี ที่ผ่านมา
.
.
หากไม่เข้าใจก็ไปดู Fed สมัย พอล โวล์คเกอร์ (ประธาน Fed ปี 1979-1987) ขึ้นดอกเบี้ยจาก 10% มาเป็น 20% ในช่วงปี 1979 - 1980 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น โดยไม่สนใจว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำมากขนาดไหน
.
.
ประกิต สิริวัฒนเกตุ
