“ต๊อบ-อิทธิพัทธ์” ผ่าแผนปีที่ 20 นำ “เถ้าแก่น้อย” ขึ้นท็อปสาหร่ายโลก
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2546 “เถ้าแก่น้อย” จากการขายเกาลัด นำไปสู่สาหร่ายอบกรอบสัญชาติไทยชื่อดัง ที่คิดค้นและพัฒนาโดย ต๊อบ- อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ในวัยเพียง 19 ปี ใช้เวลาเพียง 12 ปี ในปี 2558 บมจ.เถ้าแก่น้อย ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนปัจจุบันทำรายได้หลักพันล้านบาท และมีสินค้ากระจาย 50 ประเทศทั่วโลก
ในวาระเข้าสู่ปีที่ 21 “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน) เปิดกลยุทธ์และทิศทางบริษัทในปี 2566 เพื่อเดินหน้าผลักดันแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ไปสู่ระดับโกลบอล และเป็นที่รู้จักลำดับต้น ๆ ในแต่ละประเทศ
หลังจากปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบจากคลื่นโควิด และปัญหาดิสทริบิวเตอร์ในจีน แต่สามารถประคับประคองบริษัทฯ ไปได้ และเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 ที่ปัญหาโรคระบาดเริ่มผ่อนคลาย การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ทำให้ยังรักษามาร์เก็ตแชร์ในตลาดสาหร่ายทุกเซ็กเมนต์ได้ 65% จากมูลค่าตลาดรวม 3,000 ล้านบาท
วาง 3 เฟส ดัน 10 ประเทศ ขึ้นแท่นกลุ่มทำรายได้ดี ตั้งเป้าท็อปแบรนด์ระดับโลก
อิทธิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2566 มองเป็นปีที่ดีของเถ้าแก่น้อย โดยวางเป้าการเติบโตของรายได้ระดับดับเบิลดิจิต (เติบโตแบบตัวเลข 2 หลัก) แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้ในประเทศ 40% และรายได้จากต่างประเทศ 60% โดยปัจจุบันสินค้าเถ้าแก่น้อยได้กระจายไปสู่ 50 ประเทศทั่วโลก ตามแผน Go Global หนึ่งในกลยุทธ์ของ 3GO ที่บริษัทฯ ขับเคลื่อนต่อเนื่อง
โดย Go Global วางเป้าการนำแบรนด์เถ้าแก่น้อยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และเป็นท็อปในแต่ละประเทศ เบื้องต้น มีคอนเซ็ปต์แนวคิดเป็น 3 เฟส
เฟสแรก จะนำกลุ่มประเทศที่ทำรายได้ดี มากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป ประมาณ 10 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และเวียดนาม เร่งทำตลาด โดยทุ่มงบประมาณทางการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ภายในประเทศนั้น ๆ รวมถึงศึกษาข้อมูลอินไซด์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จนติดท็อปแบรนด์
เฟสที่สอง คัดสรรประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมจาก 10 ประเทศแรก อาทิ แคนาดา และผลักดันการทำการตลาดในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เถ้าแก่น้อยเป็นแบรนด์ขนมมเบอร์ต้นขึ้นมา
เฟสที่สาม ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ เมื่อสามารถสร้างยอดขายระดับสูงได้ในหลายประเทศ อาจมีการขยายการลงทุนโรงงานในต่างประเทศที่สินค้าเป็นที่นิยม และในประเทศนั้น ๆ มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีน อินโดนีเซีย ในรูปแบบการหาพาร์ตเนอร์ต่างประเทศมาร่วมทุน (JV)
อย่างไรก็ตาม ในการวางแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก บริษัทฯ ได้เตรียมกลยุทธ์ คือ Idol Marketing สร้างการจดจำ และสร้างรับรู้ในวงกว้างผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ โดยเน้นการเป็น Trend Setter หรือ ผู้นำเทรนด์ให้อยู่ในกระแสเสมอ และ Trend Catcher คือการที่จับกระแสความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมสร้างสรรค์กิจกรรม นำเสนอสิ่งที่สนุก เข้ากับกระแส และเทรนด์ของผู้บริโภค เพื่อให้แบรนด์ทันสมัยอยู่เสมอ
ล่าสุด ได้แต่งตั้ง 3 แบรนด์แอมบาสเดอร์ “กลัฟ คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ และ ซี พฤกษ์ พานิช – นุนิว ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์” ซึ่งทั้ง 3 คน มีคาแรคเตอร์ที่เข้ากับแบรนด์ ทั้งในเรื่องภาพลักษณ์ ความเป็นที่นิยมต่อกลุ่มเป้าหมาย และความแปลกใหม่ สามารถเป็นตัวแทนแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม และทำงานร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน พร้อมสร้างประสบการณ์และส่งมอบความสุขให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ ซึ่งแบรนด์แอมฯ ทั้ง 3 คน โด่งดังมาจากการเป็นนักแสดง และมีฐานแฟนคลับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างเหนียวแน่น เช่น จีน เป็นต้น
“ผมคิดว่ากลยุทธ์ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง เป็นกลยุทธ์หลักของเถ้าแก่น้อย เราเริ่มมาจากการการใช้ตัวผมเอง ซึ่งเป็นคนหนุ่มอายุน้อยทำธุรกิจ ให้มาเป็นสตอรี่ของเรา โดยเราตั้งเป้าไว้ว่าแบรนด์เราต้องไม่แก่ การนำแบรนด์แอมฯ ที่เป็นคู่จิ้นมา ทำให้เราได้กลุ่มเป้าหมาย และแอเรียใหม่ ๆ อย่างคุณซีและคุณนุนิว ทำกิจกรรมไลฟ์ขายสินค้าเถ้าแก่น้อยในจีน เพียงไลฟ์เดียวสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ช่วงโควิดยอดขายในจีนตกไปเหลือ 1,000 ล้านบาท จากช่วงพีกเคยทำรายได้สูงสุดที่ 2,000 ล้านบาท”
ในอนาคตเมื่อต้องก้าวไปสู่ความเป็นโกลบอลแบรนด์ ตั้งเป้านำไอดอลระดับโลกมาเป็นแบรนด์แอมฯ ซึ่งคาดว่าน่าจะอีก 2-3 ปีข้างหน้า
รุกค้าปลีกดั้งเดิม-คัมแบ็กเถ้าแก่น้อยแลนด์
สำหรับตลาดในประเทศ มีปัจจัยบวกจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ผู้เป็นลูกค้าหลักกลับมา โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยในสัดส่วน 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดเมื่อปี 2562 ส่วนนักท่องเที่ยวจีนขณะนี้เริ่มกลับมาแล้ว 30% คาดว่าจะฟื้นขึ้นเต็มประสิทธิภาพในเดือนกรกฎาคม
โดยในปีนี้ บริษัทฯ จะนำเถ้าแก่น้อยแลนด์ one stop service ของเถ้าแก่น้อยมาเปิดอีกครั้ง หลังจากช่วงโควิดมี 10 กว่าสาขา แต่ต้องปิดตัวลงไป ปี 2566 ตั้งเป้าเปิดอย่างน้อย 5 สาขา โดยเปิดได้ 2 สาขา คือ ที่เอเชียทีค และไอคอนสยาม ได้รับผลตอบรับดี โดยเฉพาะจากลูกค้าเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย คิดเป็นยอดขาย 80% จากเดิมก่อนโควิดมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน 90%
อย่างไรก็ตาม โมเดลเถ้าแก่น้อยแลนด์ จากเดิมทุกสาขามีขนาดร้านใหญ่ 200-300 ตร.ม. ทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างสูง ปีนี้จะปรับขนาดพื้นที่เล็กลงและโฟกัสเฉพาะแบรนด์เถ้าแก่น้อยเพียงอย่างเดียว จากเดิมนำสินค้าของฝากผสมเข้ามาขายร่วมด้วย
ทั้งนี้ เราจะมีขยายโมเดลคอนเนอร์เข้ามา เพื่อขายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เพื่อสร้างรายได้ให้มาดขึ้น และประหยัดต้นทุนการบริหารลง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มจับมือโลคอลดิสทริบิวเตอร์ทำช่องทางค้าปลีกดั้งเดิม (เทรดดิชั่นนอลเทรด) เพื่อพื้นที่ต่างจังหวัดเอง จากเดิมพึ่งพาอินเตอร์เนชั่นแนลดิสทริบิวเตอร์ โดยแบ่งเป็นพาร์ตเนอร์ 1 คน ต่อพื้นที่ 2-3 จังหวัด โดยปัจจุบันมีถึง 14 ศูนย์กระจายสินค้าแล้ว
เดินหน้าขยายไลน์สินค้า สร้างเติบโต
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเดินหน้าแผน ‘GO Broad’ ขยายฐานธุรกิจ สินค้า และตลาดในไทยให้กว้างและแข็งแกร่งขึ้น ทั้งการรุกตลาดสินค้ากลุ่มสาหร่ายอบที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ยึดตลาดกินรวบเป็นผู้นำในทุกเซคเม้นท์สาหร่ายในประเทศไทย และการเตรียมขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ก่อนหน้านี้ จับมือจัสดริ้งทำชานมออกมาขาย เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาโปรดักส์ เถ้าแก่น้อยยังคงเน้นการสร้างสินค้าสาหร่ายใหม่ๆ ทั้งในเรื่องรสชาติ และ รูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์และผลักดันตลาดให้เติบโตต่อเนื่องในฐานะเป็นผู้นำตลาด เช่น การออกสาหร่ายย่างแนวแผ่นหยักรายแรกในตลาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ เถ้าแก่น้อย Wave หรือ สาหร่ายอบ แผ่นยาวแนวใหม่ ภายใต้ชื่อ เถ้าแก่น้อย Long Sheet ที่มาเสริมตลาดอบให้เติบโตยิ่งขึ้น
พร้อมพัฒนากลุ่มสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable organization) บริษัทมีการดำเนินงานตามแผน esg (Environment, Social และ Governance) ทั้งวิชั่นและกลยุทธ์ในอนาคต การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ตั้งแต่เรื่องการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในโรงงานผลิตทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน การจับมือร่วมกับ SCG Chemical ในการค้นคว้าวิจัยพัฒนาเรื่องการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเรื่องการปลูกสาหร่ายในเกาหลี ที่จัดว่าเป็นพืชน้ำที่ดีต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม และช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
“สำหรับสาหร่าย ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหลักของเถ้าแก่น้อย โดยปีนี้ในประเทศไทยแบ่งสัดส่วนสินค้าประเภทสาหร่ายไว้ที่ สาหร่ายทอด 55% สาหร่ายอบ 30% สาหร่ายย่าง 13% พร้อมผลักดันตลาดสาหร่ายอบให้โตต่อเนื่อง ยึดความเป็นผู้นำตลาดในทุกเซคเม้นท์ สัดส่วนที่เหลือจะเป็นสาหร่ายอื่นๆ นอกจากนี้ยังเตรียมแผนพัฒนาสินค้า และนวัตกรรมใหม่ที่จับเทรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการทำการตลาดทั้งในไทย และต่างประเทศ ไปพร้อมกับประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของเถ้าแก่น้อยมาตลอด 20 ปี พร้อมตั้งเป้าการเติบโตตลาดรวมสาหร่ายในประเทศไทยไว้ที่ 20% และภาพรวมธุรกิจเติบโตที่ 15%”