ย้อนรอย! STARK กับเส้นทางเข้าตลาดหุ้น
แบบ “แบ็คดอร์” ด้วยความเพ้อฝันการโตครั้งใหญ่
แต่สุดท้าย บริษัทกำลังซ่อนอะไรไว้ใต้พรม?

.
สิ่งที่นักลงทุนกำลังเฝ้าจับตา และรอคอยความชัดเจนคือกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ในประเด็นเรื่องการเกิดปัญหาอะไรภายในบริษัท และทำไมบริษัทถึงยังไม่ส่งงบการเงินประจำปี 2565 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดเสียที
.
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้หุ้นถูกแขวน SP “ห้ามซื้อขาย” และทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกว่า 9,613 รายที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยกับการบริหารที่มีเงื่อนงำต้องมาได้รับผลกระทบของการกระทำในครั้งนี้
.
ทั้งนี้การที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ขึ้นเครื่องหมาย SP “ห้ามซื้อขาย” หุ้น STARK ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียซะมากกว่า เพราะทำให้นักลงทุนรายย่อยถูกติดขังไปกับหุ้น ที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะกลับมาได้หรือไม่?
.
ขออนุญาตเล่าย้อนที่มาที่ไป ก่อนจะมาเป็นหุ้น STARK บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันนี้นั้นเคยผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง และเคยวาดฝันแผนธุรกิจที่ดูจะเหมือนสวยหรูไว้อย่างไรบ้าง
.
โดย “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เป็นบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นโดยใช้ช่องทางลัด หรือที่เรียกว่า Backdoor Listing คือ การที่บริษัทนอกตลาดหุ้นเข้าตลาดหุ้นในทางอ้อม แล้ว “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เข้ามาทางไหน?
.
“สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2562
.
ภายหลังจากที่ ก.ล.ต.รายงานว่า STARK INVESTMENT CORPORATION LIMITED กลุ่มของนายวนรัชต์ ตั้งคารวะคุณ เข้ามาถือหุ้นใน SMM รวมทั้งสิ้น 95.6% แล้วนั้น จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัท และชื่อย่อหุ้นจนมาเป็น STRAK จนถึงทุกวันนี้
.
ดังนั้นเองภายหลังจากที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา ก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงโครงสร้างทีมงานของผู้บริหาร นอกจากนี้ยังได้ปล่อยหุ้นที่ซื้อรวบไป ออกมาขายในกระดานเพื่อให้หุ้นมี Free Float ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด
.
อีกทั้งยังได้วาดผังแผนงานธุรกิจไว้อย่างสวยหรู ด้วยการรับโอนกิจการบริษัทด้านเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ภายใต้การนำทัพของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ
ด้วยแผนธุรกิจที่วางไว้ STARK จึงได้คิดการใหญ่ (เกินตัว) โดยหมายมั่นปั้นมือจะเข้าไปเทคโอเวอร์ธุรกิจโซลูชั่นสายเคเบิลยักษ์ใหญ่จากเยอรมัน ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท
.
ดังนั้นทำให้ STARK จึงมีความจำเป็นต้องเรียกระดมเงินเพิ่มทุนจากนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง จากกลุ่มทุนรายใหญ่ซึ่งมีทั้งนักลงทุนประเภทสถาบัน รวมไปถึงเหล่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น
.
สำหรับรายชื่อกลุ่มนักลงทุนขาใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของการการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น Credit Suisse (Singapore) Limited ,The Hongkong and Shanghai Banking Corporation, UOB Kay Hian Private Limited,บลจ.บัวหลวง จำกัด,บลจ.กสิกรไทย จำกัด,บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด,บล.เกียรตินาคินภัทร
.
รวมไปถึงเหล่าบริษัทจดทะเบียนชื่อดังในตลาดหุ้นไทย อย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI การเพิ่มทุนในครั้งนี้ทำให้ STARK ได้เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้ไปกว่า 5,580 ล้านบาท
.
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพการเพิ่มทุนเพื่อไปลงทุนเหมือนจะดูเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ก็ต้องมาสะดุดเมื่อดีลการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทสัญชาติเยอรมันต้องล้มเลิกไป โดย STARK ให้เหตุผลว่าเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปทางลบหลายประการ และข้อมูลที่ได้รับมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ทำธุรกรรม
.
ทั้งนี้เป็นคำถามชวนสงสัยว่า แล้วเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ STARK จะเอาไปใช้ทำอะไรหลังจากที่ดีลล่มไปแล้ว จนมาถึงตอนนี้ก็กินเวลาล่วงเลยไปแล้วกว่า 4 เดือน STARK ก็บอกไม่ได้ว่าจะเอาเงินเพิ่มทุนไปทำอะไร
.
จากนั้นก็เกิดกรณีที่ทำให้นักลงทุนถูกขังติดอยู่ในหุ้นที่ยังมีอนาคตในแผนธุรกิจไม่นอน เพราะหุ้นถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP “ห้ามซื้อขาย” เนื่องจากบริษัทไม่ยอมส่งงบการเงินปี 2565 ตามกำหนด
.
จนแล้วจนเล่าถึงวันที่จะต้องกำหนดส่งงบการเงิน ทาง STARK ก็ขอเลื่อนนำส่งงบกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นจำนวน 2 ครั้ง จึงทำให้กูรูสายหุ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งนักลงทุนตั้งข้อสงสัย และวางข้อสังเกตว่ามีการบริหารงานที่มีเงื่อนงำไม่โปร่งใสหรือไม่ ?
.
ไม่เพียงแค่นั้น กรรมการบริษัท รวมไปถึงคณะผู้บริหารงานได้มีการลาออกกันแบบยกยกโขยง เริ่มตั้งแต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ,ประธานกรรมการบริษัท,กรรมการผู้จัดการใหญ,กรรมการอิสระ ,กรรมการตรวจสอบ
.
อย่างไรก็ตามความเสียหายไม่ได้เกิดเพียงแค่ภายใน “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” เพราะยังลามไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นคนปล่อยกู้ให้กับ STARK
.
โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ รายงานว่า ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK รวมกันเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งมีสัญญาณว่าอาจจะถูกเบี้ยวหนี้
.
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2566 ธนาคารกสิกรไทย รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2566 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจที่ระบุไว้ในคำอธิบายงบการเงินว่า ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนึ่งมีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสํารองสําหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว
.
เช่นเดียวกัน บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่แจ้งผลประกอบการที่มาพร้อมกับคำอธิบายงบที่ระบุเอาไว้ว่า บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% เพื่อเป็นสำรองส่วนเพิ่มสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง
.
ทั้งนี้คงจะต้องจับตารอดูว่าจะมีการเคลื่อนไหวจากทางฝั่งผู้กำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปลงทุนในบริษัทอย่างไรบ้าง หลังจากที่ไว้เนื้อเชื่อใจใส่เงินลงทุน แต่กลับถูกผู้บริหารบริษัทที่มีการบริหารงานแบบมีเงื่อนงำไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด และทำให้หุ้นต้องถูกสั่งห้ามการซื้อขายจนเป็นระยะเวลานาน ทำให้เสมือนกับว่าเงินของนักลงทุนถูกแช่แข็งไปหุ้นที่ไม่มีอนาคต