ห้องเม่าปีกเหล็ก

รอฟัง กนง. เคลียร์ชัด สัญญาณเศรษฐกิจและดอกเบี้ย

โดย OVERMoney
เผยแพร่ :
108 views

รอฟัง กนง. เคลียร์ชัด สัญญาณเศรษฐกิจและดอกเบี้ย

 

 

กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะยังไม่จบซะทีเดียว เป็นเพราะสัญญาณเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจเร่งตัวขึ้นมาได้จากทั้งปัญหา เอลนีโญ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวถีบสูงขึ้น

 

ดูเหมือนตลาดเงินจะเชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (27ก.ย.) ที่ประชุมน่าจะมีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ จะถือเป็นการปรับทิศนโยบายการเงินครั้งแรกในรอบ 1 ปี เพราะดอกเบี้ยนโยบายในประเทศไทยเริ่มขยับขึ้นมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 จากระดับ 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ในปัจจุบัน

โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามจากการประชุมวันนี้ คือ สัญญาณจากคณะกรรมการ กนง. ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะยังไม่จบลงซะทีเดียว

สาเหตุที่เชื่อกันว่าในการประชุมครั้งนี้ กนง. น่าจะพักการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อนเพราะตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวสะท้อนความอ่อนแอเกินกว่าที่ กนง. คาดการณ์เอาไว้มาก และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ทาง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ประกาศบนเวทีเสวนาของ ธปท. เองว่า ธปท. เตรียมจะปรับลดประมาณเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปี 2566 ลง เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจจริงออกมาต่ำกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ค่อนข้างมาก

สิ่งที่ตลาดน่าจะอยากฟังจากทางบอร์ด กนง. ในการประชุมครั้งนี้ คือ ความเห็นของ กนง. ที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยออกมา เติบโตได้เพียง 1.8% ผิดไปจากคาดการณ์ของ ธปท. อย่างมาก

จนผู้ประกอบการหลายแห่งถึงกับเอ่ยปากว่า คงต้องหยิบแผนงานที่ทำไว้มาทบทวนกันใหม่ ดังนั้นการแถลงข่าวของ กนง. รอบนี้ ควรต้องเคลียร์ให้ชัดถึงสาเหตุที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ สศช. ประกาศออกมา ทำไมจึงผิดไปจากคาดการณ์ค่อนข้างมาก และแนวโน้มระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ส่วนประเด็นที่ตลาดยังไม่ปักใจเชื่อว่า กนง. จะปิดฉากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเลยนั้น เป็นเพราะสัญญาณเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าอาจเร่งตัวขึ้นมาได้จากทั้งปัญหา เอลนีโญ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวถีบสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ประกอบกับราคาพลังงานในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นแรงอีกครั้ง กำลังกดดันเงินเฟ้อโลกขยับขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนเป็นปัญหาจากฝั่งของซัพพลาย ไม่ได้เกิดจากดีมานด์ เราจึงเห็นว่าไม่ควรเป็นประเด็นที่ กนง. หยิบมาใช้เพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในทางกลับกัน กนง. ควรต้องเฝ้าระวังการย้อนกลับของ “หนี้เสีย” เพราะข้อมูลจากฝั่งของเครดิตบูโรสะท้อนชัดว่า ลูกหนี้ในกลุ่ม “รหัส21” หรือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียในช่วงโควิด เริ่มกลับมามีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังกันอีกรอบแล้ว ที่สำคัญเวลานี้หลายคนเริ่มกังวลว่า ปัญหา “หนี้เสีย” กำลังเป็นระเบิดเวลาที่ใกล้ปะทุเต็มทน!

 

 


OVERMoney