กลุ่มแบงก์ ‘กำไรไตรมาส 2’ หด พิษ ‘เศรษฐกิจ-สินเชื่อ’ ลด รายได้ดอกเบี้ยชะลอตัว
โบรกคาด “กลุ่มแบงก์” ประกาศ “กำไร” ไตรมาส 2 ปี 2568 ลดลง “บล.เอเซีย พลัส” ชี้การเติบโต “สินเชื่อ” ชะลอตัว และปรับลดดอกเบี้ย “บล.กสิกรไทย” ประเมินกำไรทั้งปีลดลง 5% อยู่ที่ 1.85 แสนล้าน แนะ “ไม่เพิ่มสัดส่วน” เน้น “ถือ” รับ “เงินปันผล” และนโยบาย “ซื้อหุ้นคืน” ด้าน “บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล” มองภาพรวมสินเชื่อแบงก์ชะลอตัว แต่“สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่” ขยายจากรีไฟแนนซ์หนี้หรือ หุ้นกู้
“กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย” (แบงก์) กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ “ท้าทาย” ในแง่ของผลประกอบการช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ที่คาดว่าจะประกาศตัวเลขการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเะทศไทย (ตลท.) ในช่วงเดือนก.ค. นี้ ทั้งนี้หลากหลายสำนักวิเคราะห์ประเมินตัวเลขงบแบงก์ไตรมาส 2 ไม่สดใส แต่ “จุดแข็ง” โดดเด่นคงยกให้ “การจ่ายเงินปันผล” และ “การซื้อหุ้นคืน” อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุง เนื่องจากยังมีประเด็นความเสี่ยงแนวโน้ม “เศรษฐกิจ” ครึ่งปีหลัง 2568

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจิรญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” (แบงก์) ยังคงเผชิญภาวะ “ชะลอตัว” ในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตที่ไม่มากและการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับ แนวโน้ม “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเหลือการประชุมอีก 3 ครั้ง ซึ่งคาดว่า กนง. มีโอกาสที่จะ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง” อีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 1.50% สอดคล้องกับพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลงไปใกล้ 1.5% แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสลดลงได้อีก เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังอาจมีแรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม แม้กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะอ่อนตัวลงในไตรมาส 2 ปี 2568 แต่ทว่ากลุ่มแบงก์มี “จุดเด่น” ที่มีการจ่ายเงินปันผลที่สูง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มธนาคารพยายามเพิ่มนโยบายการจ่ายเงินปันผล หรือบางธนาคารก็มีการซื้อหุ้นคืน เห็นได้ชัดคือธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ที่มีการซื้อหุ้นคืน รวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่ได้จบโครงการซื้อหุ้นคืนรอบแรกไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาซื้อหุ้นคืน เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดว่าจะช่วยหนุนราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารในระยะต่อไปได้
สำหรับ หุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำหุ้น KTB มีศักยภาพ หรือมีโอกาสในการซื้อหุ้นคืน รวมถึงให้ปันผลระดับสูงประมาณ 7% ต่อปี และคาดว่ากลุ่มธนาคารโดยรวมมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการพิจารณาจ่ายปันผลระหว่างกาลที่จะเข้ามาเสริม
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 2568 กลุ่มแบงก์คาดจะลดลงเพียงเล็กน้อยทั้งจากไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากสินเชื่อที่ลดลง ซึ่ง NIM ปรับตัวลงจากดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับลง และระดับต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ที่ยังน่าจะทรงตัวสูง
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าคาดทิศทางกำไรของกลุ่มแบงก์ อาจจะลดลงต่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากฐานสินเชื่อที่ต่ำลง กำไรเงินลงทุนที่น่าจะลดลง และคาดค่าใช้จ่ายสำรองที่อาจสูงขึ้นจากความเสี่ยงด้านภาคการส่งออก โดยเราคาดการณ์กำไรของกลุ่มแบงก์ปีนี้อยู่ที่ 185,331 ล้านบาท (ไม่รวมKBANK) หรือ ลดลง 5% จากปีก่อน พร้อมกับแนะนำการลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ “ไม่เพิ่มสัดส่วน” การลงทุนแล้ว แต่เน้น “ถือ” เพื่อรับปันผลได้บางตัวเท่านั้น
บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุว่า คาดว่าภาพรวมกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2 ปี 2568 ด้านสินเชื่อแนวโน้มจะชะลอตัวลง แต่กลุ่มสินเชื่อที่จะนำการเติบโตในไตรมาส 2 ปี 2568 น่าจะมีเพียง “สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่” จากการรีไฟแนนซ์หนี้/หุ้นกู้ ขณะที่ธนาคารยังคงใช้ความระมัดระวังสินเชื่อของ SME และสินเชื่อรายย่อย โดยเน้นกลุ่มลูกค้ารายได้สูงสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิต
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50bp ในวันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.68 จึงทำให้อัตราดอกเบี้ย Benchmark ของอุตสาหกรรมธนาคารอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 ดังนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โดยรวมในไตรมาส 2 ปี 2568 จึงน่าจะอยู่ใน “ขาลง”
ที่มา… https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1187904