ห้องเม่าปีกเหล็ก

มองหุ้นเด่น : CPF กับราคาหุ้นที่ไม่แน่ชัดในเรื่องของการเพิ่มทุน ??

โดย คนเล่นหุ้น
เผยแพร่ :
57 views

หุ้นเด่นประจำวันนี้ คือ หุ้น CPF ยังคงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องเพิ่มทุนของวันสุดท้าย คือ วันที่ 31 กรกฏาคม 2560 จะมีรายย่อยไปเพิ่มทุนหรือไม่หลังจากที่หุ้นไม่วิ่ง ราคาในกระดานถูกกว่าราคาเพิ่มทุน

 

CPF ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่จำแนกธุรกิจหลักตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์
2) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) ได้แก่ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า และการแปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน
3) ธุรกิจอาหาร (Food) ได้แก่ การผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก และการผลิตสินค้าอาหาร รวมถึงกิจการค้าปลีกและร้านอาหาร

 

ผลการดำเนินงาน CPF ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง จากระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 57 เป็น 1.4 หมื่นล้านบาทในปี59 ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ ทำกำไรสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YoY และ 128% QoQ


  
CPF จ่ายปันผลสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของหุ้นในหมวด FOOD ที่ปันผลดี มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 3% เศษต่อปี แต่ราคาหุ้น CPF ปีนี้ไม่น่าประทับใจ โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบันปรับลงแล้วราว 16%


  
จากแผนการเติบโตด้วยการขยายธุรกิจไปทั่วโลก CPF จึงต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งจากการกู้และเพิ่มทุน ทำให้ต้องประกาศเพิ่มทุน 1.55 พันล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 25 บาท หวังระดมเงิน 3.87 หมื่นล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่ราว 2.7 หมื่นลบ. จะนำไปใช้หนี้เงินกู้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งจะลดภาระดอกเบี้ยได้ราว 1.2 พันล้านบาท/ปี และอีก 1.1 หมื่นล้านบาท จะใช้เป็นเงินสำรองไว้ขยายการลงทุนในอนาคต


  
ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งถือเป็นกิจการโฮลดิ้งของครอบครัวเจียรวนนท์ที่ถืออยู่ประมาณ 3 พันล้านหุ้น ประกาศชัดเจนว่าจะใช้สิทธิเต็มจำนวน หรือใส่เงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ราคากระดานอยู่ที่ราว 25 บาท ใกล้เคียงราคาเพิ่มทุน ซึ่งต้องวัดใจนักลงทุนรายย่อย ว่าจะยอมใส่เงิน หรือยอมให้สัดส่วนการถือหุ้นไดลูทลง แล้วไปรอเก็บในกระดาน ซึ่งอาจได้ราคาถูกกว่า

 

สาเหตุที่ CPF ลงไม่ใช่แค่ประเด็นเพิ่มทุนเพียงอย่างเดียว !!


บริษัทย่อยในฮ่องกง C.P. Pokphand Co., Ltd. (CPP) แจ้งว่า อาจจะรายงานผลขาดทุนประมาณ 10-20 ล้านดอลลาร์ในงวดครึ่งแรกปี60 เนื่องจากราคาหมูตกต่ำ ย่อมกระทบมายังงบไตรมาส 2/60 ของ CPF ด้วย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้น CPF ราคาไหลลงมาจากระดับราคาที่ 30 บาท ก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุนอีกครั้ง ณ ระดับราคาที่ 27 บาท ทำให้รายย่อยและกองทุนบางส่วนต้องขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นไหลลงมาต่อเนื่องหลุดระดับราคาเพิ่มทุนที่ 25 บาท ไปต่ำสุดที่ราคา 23.2 บาท ก่อนที่จะรีบาวกลับมาที่เดิมอีกครั้ง

 

สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์


บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขคาดการณ์ขาดทุนที่รายงาน จะคำนวณได้เป็นส่วนแบ่งขาดทุนมายัง CPF ที่ราว 411-583 ล้านบาท ในไตรมาส 2/60
  
อย่างไรก็ตาม เคจีไอ ได้รวมความอ่อนแอของธุรกิจหมูในเวียดนามเข้าไปในคาดการณ์กำไรปกติ CPF ไตรมาส 2/60 แล้วที่ 2.8 พันล้านบาท หรือลดลง 19.6% YoY แต่เติบโต 50.2% QoQ ส่วนกำไรสุทธิคาดว่าจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าที่ราว 4 พันล้านบาท
  
ยังคงแนะนำให้ซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 30.50 บาท คำนวณโดยวิธี sum-of-the-parts (โดยประเมินมูลค่าธุรกิจหลักที่ 8.5 บาท และมูลค่าการลงทุนใน CPALLที่ 22.00 บาท) ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานจะมีแนวโน้มอ่อนแอ แต่เราก็ยังชอบ CPF ในแง่ของราคาหุ้นซึ่งยังถือว่าถูกกว่ามูลค่าของหุ้น CPALLที่บริษัทถืออยู่เสียอีก ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับว่านักลงทุนที่ซื้อ CPF จะได้หุ้น CPALL แถมด้วยธุรกิจของ CPF (รายได้ 5 แสนล้านบาท) ติดมาด้วยฟรีๆ เพราะฉะนั้น เราจึงเชื่อว่าที่ระดับนี้จะเป็นระดับที่ช่วยหนุนราคาหุ้น CPF เหมือนเมื่อต้นปี 2559


  
บล.ทรีนีตี้ คาดกำไรปกติ CPF ปี 60 ที่ 11,806 ล้านบาท กำไรครึ่งปียังไม่ได้เดินไปตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ แม้ว่าธุรกิจไก่่ในไทยจะได้ผลบวกจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และผลผลิตกุ้งที่ฟื้นตัว แต่ธุรกิจหมูในเวียดนามที่อ่อนตัวลงเป็นปัจจัยที่กดดันมากกว่าคาด หากในช่วงที่เหลือของปียังไม่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน อาจมีการปรับประมาณการกำไรปกติทั้งปีลงได้


  
ทั้งนี้ ยังคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 28 บาท อิง PBV 1.5 เท่า ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการเพิ่มทุนที่ 5:1 ที่บริษัทได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เนื่องจากยังประเมินจำนวนผู้ใช้สิทธิเพิ่มทุนได้ยาก อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานผู้ใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็มจำนวนจะได้ราคาเป้าหมายที่ราว 23.6 บาท ด้วยความเสี่ยงที่อาจต้องปรับประมาณการกำไรลง เราจึงแนะนำเพียง "ถือ"


  
ส่วนอีก 2 ค่ายแนะนำเป็นโอกาส ซื้อสะสม หลังมองราคา CPF น่าจะตอบรับผลประกอบการที่อ่อนแอ ไปพอสมควรแล้ว


  
บล.ซีไอเอ็มบี คาดกำไรปกติงวด Q2/60 จะเติบโต 15% QoQ แต่ลดลง 56% YoY ใน Q2/60 เพราะราคาหมูในเวียดนามลดลง เชื่อว่า CPF จะมีกำไรเติบโต QoQ เพราะราคาสัตว์บกในประเทศและยอดส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลประกอบการที่อ่อนตัวในเวียดนาม??ราคาหุ้น CPF ที่ปรับลดลงราว 16% YTD น่าจะรับรู้ผลประกอบการที่อ่อนตัวแล้วจึงน่าจะมี downside จำกัด ปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น 8% สะท้อนราคาเนื้อหมูในเวียดนามที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 35 บาทตามวิธี SOP


  
บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 บาท กำไรสุทธิ CPF จะลดลง 4.9% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ที่มีจากการส่งออกของ CPF ไม่มากนัก อีกทั้งราคาหุ้นปรับลงมามากแล้ว สะท้อนประเด็นข่าวที่ CPF ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน บ.ย่อยในฮ่องกงใน Q2/60 สาเหตุหลักมาจากปัญหาสุกรล้นตลาดในประเทศเวียดนาม รวมทั้งประเด็นการเพิ่มทุน ราคาที่ลดลงจึงถือเป็นโอกาสทยอยสะสม เป้าหมาย 30 บาท

 

....... ณ ปัจจุบันนี้ การเพิ่มทุนวันสุดท้าย รายย่อยคงมีทางเลือกไม่มากนักระหว่างการเพิ่มทุนหรือทำตัวอยู่เฉยๆไม่ไปเพิ่มทุน และซื้อเก็บในกระดานเอาซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าประมาณ 10 - 20 สตางค์ ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนกำลังถามหา คือ ถ้าราคานี้ CPF จะเพิ่มทุนสำเร็จหรือไม่ แล้วถ้าไม่สำเร็จทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อไป การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการบ่งบอกว่า CPF เป็นบริษัทที่เติบโตโดยจากการสร้างหนี้หรือไม่ ยังเป็นคำถามในใจนักลงทุนจนถึงวันนี้

ที่มา : www.set.or.th , www.efinancethai.com

Bisnews Professional

 


คนเล่นหุ้น