Pet Food Sector : ยังคงมีความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในอัตรา 36% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีการบรรลุข้อตกลงทางการค้า อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมองที่เป็นกลางต่อกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงไทยในระยะสั้น และมีมุมมองบวกในระยะยาว
• ภาษีศุลกากรฉุดราคา ไม่ใช่ปริมาณ เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ซื้อจึงใช้วิธีหันมาซื้อสินค้าที่ราคาคุ้มค่า (large pack/private labels) ผลกระทบจากคู่แข่งอย่างเวียดนามมีจำกัด แม้ตอนนี้ไทยดูเหมือนจะเสียเปรียบอัตราภาษีศุลกากร แต่เนื่องจากการสร้างโรงงานใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนตามมาตรฐานสหรัฐ ต้องใช้เวลา 2-3 ปีทำให้แบรนด์ระดับโลกต้องพึ่งพาผู้ผลิตOEM ของไทยต่อไป

• การเติบโตครั้งใหญ่ของอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกจะเริ่มตั้งแต่ปี 2570 จากจำนวนสัตว์เลี้ยงสูงอายุที่เพิ่มขึ้นมาก การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากช่วงโควิด ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเข้าสู่ภาวะสูงอายุตั้งแต่ปี 2570 ซึ่งจะกระตุ้นอุปสงค์อาหารเปียกระดับพรีเมียม ส่งผลดีต่อ OEM ไทยเพราะโรงงานได้มาตรฐานระดับโลกและมีกำลังการผลิตมากกว่าเวียดนามหลายเท่า การทำ R&D ร่วมกันมาทำให้การเปลี่ยนเจ้าผลิตเป็นไปได้ยาก แม้ว่าภาษีศุลกากรจะกดดันอัตรากำไรในระยะสั้น แต่คาดว่าสัดส่วนการขายอาหารเปียกพรีเมียมที่มีมาร์จิ้นมากขึ้นและการขยายตัวของการขายแบบ Autoship จะเป็นปัจจัยหนุนในระยะยาว
• พรีวิว AAI ไตรมาส 2/2568 เราคาดว่ากำไรปกติไตรมาส 2/2568 จะอยู่ที่ 219 ลบ. (-39% YoY และ -15% QoQ) และคาดว่ายอดขายจะเติบโต +6% YoY เป็น 1.82 พันลบ. จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น +16% แต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการหันมาซื้อสินค้าที่ราคาถูกลงฉุดราคาขายเฉลี่ย (ASP) ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) คาดว่าจะอยู่ที่ 17.9% (-780bps YoY) เทียบกับจุดสูงสุดของปีก่อนที่ 25.7% คาดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ต่อรายได้ ทรงตัวที่ 5.1% คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯทรงตัวก่อนการประกาศเรื่องภาษี ขณะที่ผู้บริหารกำลังพิจารณาการส่งออกไปยุโรปเพื่อบรรเทาผลกระทบ คำสั่งซื้อล่วงหน้ายังคงปกติไปถึงเดือน ส.ค.
• พรีวิว ITC ไตรมาส 2/2568 เราคาดว่ากำไรปกติจะอยู่ที่ 721 ลบ. (-36% YoY และ +3% QoQ) ยอดขายที่ 4.67 พันลบ. (-2% YoY และ +6% QoQ) จากการขนส่ง 33kt การเติบโตของปริมาณการขายถูกชดเชยด้วย ASP ที่ลดลง -11% จากสัดส่วนผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่ลดลงต่ำกว่า 50% และเงินบาทแข็งค่าขึ้น GPM คาดว่าจะอยู่ที่ 24.2% (-580 bp YoY) SG&A ต่อรายได้ที่ 9.9% (+140 bp YoY) คำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปแข็งแกร่ง คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ทรงตัวก่อนการบังคับใช้ภาษีศุลกากรในอัตราใหม่
มุมมองของเรา
• มุมมอง “เป็นกลาง” ต่อกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในระยะสั้น ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ราคาถูกลง และภาษีศุลกากรของสหรัฐฯคาดส่งผลกระทบต่อ ASP ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเรามีมุมมองเชิงบวกจากแนวโน้มสัตว์เลี้ยงสูงอายุและความสามารถในการแข่งขันของไทยจากมาตรฐานโรงงานขั้นสูงและความได้เปรียบด้านปริมาณการผลิต การมีปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่า/ไก่ จำนวนมาก จะทำให้ทั้งราคาขายและปริมาณขายอาหารเปียกแบบพรีเมียมเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป