หุ้นพลังงานเริ่มถึง 'ทางตัน'
นักวิเคราะห์แนะเบรกลงทุนหุ้น "พลังงานขนาดใหญ่" ระบุหากน้ำมันดิบไม่ทะลุ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันกำไรทั้งกลุ่ม
ช่วงปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยวิ่งขึ้นมาได้ราว 16% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน ซึ่งปรับตัวขึ้นได้ถึง 31% โดยหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มอย่าง ปตท.(PTT) และปตท.สผ.(PTTEP) ต่างปรับตัวขึ้นมาถึง 40% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เกียรติก้อง เดโช นักกลยุทธ์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มองว่า หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นมาถึงจุดที่ต้องพึงระวังแล้ว โดยเฉพาะพลังงานขนาดใหญ่
ราคาหุ้นของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ 4 ราย ได้แก่ ปตท. (PTT) ปตท.สผ. (PTTEP) ไทยออยล์ (TOP) และพีทีที โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) ปัจจุบันซื้อขายกันที่ค่า P/E ล่วงหน้า 12 เดือน ราว 11.5 เท่า ซึ่งใกล้กับจุดสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 12.1 – 12.2 เท่า มากแล้ว และเมื่อพิจารณาการเติบโตของกำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้ เชื่อว่ายังไม่มากพอที่จะกดให้ค่า P/E ปรับตัวลดลงไปได้
“ปัจจัยสำคัญของหุ้นในกลุ่มนี้คือ ราคาน้ำมันดิบ หากไม่สามารถทะลุ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปถึง 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เชื่อว่ากำไรของหุ้นในกลุ่มนี้ไม่น่าจะเติบโตได้มากขนาดที่ทำให้ค่า P/E ลดลง ฉะนั้นมีโอกาสที่หุ้นเหล่านี้จะปรับตัวลงมาเพื่อรอปัจจัยหนุนใหม่ๆ อย่าง ผลการประชุมของโอเปก หรือผลการดำเนินงานที่แท้จริง”
ผลการประชุมของโอเปกเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่ออนาคตของกลุ่มนี้ ซึ่ง เกียรติก้อง มองว่า โอเปกควรจะมีมติลดกำลังการผลิตมากกว่า 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือควรจะขึ้นไปถึงระดับล้านบาร์เรลต่อวัน จึงจะช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันไปถึง 55 – 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“จะเห็นว่าระยะหลังนี้นักลงทุนหันไปเล่นหุ้นพลังงานขนาดเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นที่อิงกับธุรกิจปิโตรเคมี อย่าง ไออาร์พีซี (IRPC) เอสโซ่ (ESSO) แต่ส่วนตัวมองว่าการเล่นรอบน่าจะทางเลือกที่ดีกว่า จากความไม่แน่นอนของราคาน้ำมัน และที่สำคัญยังมีความกังวลต่อการเติบโตของกำไรบจ.ในระยะสั้นเข้ามากดดันเพิ่มเติม”
สิ่งที่น่าจับตามองอย่างหนึ่ง คือ การประกาศน้ำหนักการลงทุนของ MSCI ในวันที่ 14 พ.ย. นี้ หากไม่มีการลดน้ำหนักหุ้นในดัชนี MSCI Thailand ดัชนีหุ้นไทยจะวิ่งขึ้นต่อ แต่หากเกิดไปลดน้ำหนักหุ้นในกลุ่มธนาคาร ค้าปลีก หรือหุ้นที่โยงกับท่องเที่ยว ดัชนีหุ้นไทยน่าจะลงไปเล่นในระดับต่ำกว่านี้
“ส่วนตัวมองว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ซึ่งมีแรงขายออกมาต่อเนื่อง มีโอกาสจะถูกปรับลดน้ำหนักการลงทุนจากความกังวลในเรื่องของกำลังซื้อ ตามราคาข้าวที่ลดลง และช่วงของการไว้ทุกข์ 2-3 เดือนต่อจากนี้ ขณะเดียวจากการคาดการณ์ของ MSCI ประเทศไทย คาดว่าการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบจ.จะลดลงจาก 14% เป็น 10% ในปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่ 12% ฉะนั้นมีโอกาสที่น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยจะถูกถอนออกไปบ้าง”
อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอลง น่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอาจจะกดดันหุ้นไทยให้ซึมลงในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นการขายออกมาอย่างรุนแรง เว้นแต่ว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาเซอร์ไพรส์ตลาด อาทิ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง
ด้วยความกังวลจากปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับตลาดหุ้นไทยมีอัตราการทำกำไรจำกัด ขณะที่ขึ้นมาซื้อขายกันที่ค่า P/E สูงสุดที่ 15.1 เท่า ตามทฤษฎีแล้วคงต้องสลับไปลงทุนในหุ้น Defensive และให้เงินปันผลตอบแทนสูง ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นหุ้นในกลุ่มนี้ซื้อขายกันคึกคักมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก